วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

10.12.2558 ประวัติความเป็นมาของตลาดต้นลำไย by ‎Pirote Saechew‎ ถึง ภาพเก่าเล่าเรื่อง

ประวัติความเป็นมาของตลาดต้นลำไย by ‎Pirote Saechew‎ ถึง ภาพเก่าเล่าเรื่อง.
1.ประวัติความเป็นมาของตลาดต้นลำไย จาก fb: ‎Pirote Saechew‎ ถึง ภาพเก่าเล่าเรื่อง ประวัติความเป็นมาของตลาดต้นลำไย ตลาดต้นลำไย ต้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงตรงกันข้ามกับวัดเกตการามที่อยู่บนฝั่งตะวันออก พื้นที่ตลาดต้นลำไยเป็นที่ราบลุ่ม มีอาณาบริเวณติดกับช่วงเมรุซึ่งเป็นสุสานอัฐิเจดีย์ของตระกูลเจ้านายผู้สืบเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่จรดน้ำแม่ข่า ติดกำแพงชั้นนอกบ้านช้างม่อย เดิมพื้นที่ตลาดต้นลำไย เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำปิง ต่อมาชาวบ้านได้นำต้นลำไยมาปลูกจึงมีลักษณะเป็นสวนลำไย เป็นที่เลี้ยงช้างของเจ้าหลวงและมีท่าน้ำที่ควาญช้างมักจะนำช้างลงอาบน้ำทางด้านเหนือของสวนลำไย เป็นสถานที่สงบเงียบติดสุสานเจ้าหลวง และมีวัดเณรจิ๋วที่รกร้างอยู่ทางด้านใต้เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน ในสมัยนั้น ความเจริญทางด้านธุรกิจการค้าของเชียงใหม่อยู่รอบปริมณฑล แหล่งเศรษฐกิจการค้าส่งมีศูนย์กลางอยู่ที่บ้าน"หล่ายหน้า" บริเวณวัดเกตการาม ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางด้านตะวันออก มีเรือหางแมงป่องรับสินค้าจากกรุงเทพ-เชียงใหม่ จอดเรียงรายกันอย่างคับคั่ง ขนถ่ายสินค้าที่ท่าน้ำหลังบ้านของร้าค้าริมน้ำ มีท่าช้างของห้างบอร์เนียวอังกฤษ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูเศรษฐกิจของนครเชียงใหม่ มีบ้านนายอากรจีนเต็งตั้งอยู่บริเวณวัดเกตน้อย มีโรงเรียนจีนฮั่วเอง โรงเรียนสตรีอเมริกัน คริสตจักรมิชชันนารีและวัดชาวซิกข์ตั้งเรียงรายแออัดอยู่ มีคนหลากหลายเชื้อชาติทั้งชาวไทย ชาวจีน ชาวอเมริกัน ชาวอังกฤก และชาวอินเดีย เป็นต้น.
2.ประวัติความเป็นมาของตลาดต้นลำไย จาก fb: ‎Pirote Saechew‎ ถึง ภาพเก่าเล่าเรื่อง ด้านเหนือ ตั้งแต่บ้านวังสิงห์คำลงมาทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง เป็นบ้านของกลุ่มพ่อเลี้ยงหลายตระกูล ที่ตั้งโรงเลื่อยไม้ในบริเวณบ้าน อาทิ ตระกูลศรีมงคล พิมพ์สมบัติ สุขเกษม ชมะนนท์ สุกัณศีล ชัยนิลพันธ์ เป็นต้น มีโรงเรียนชายวังสิงห์คำ จวนข้าหลวงเทศาภิบาล คุ้มเจ้าดารารัศมี (คุ้มเจดีย์งาม) โรงพยาบาลอเมริกันมิชชัน คุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวเชียงใหม่ ชาวไทยใหญ่และชาวอเมริกัน ตระกูลที่มีฐานะดี ชาวบ้านเรียกหัวหน้าครอบครัวว่า พ่อเลี้ยง เช่น พ่อเลี้ยงเมืองใจ ชัยนิลพันธ์ ส่วนชาวจีนที่มีฐานะดีย่านวัดเกตการาม ชาวบ้านมักจะเรียกนำหน้าว่า จีน เช่น นายอากรจีนเต็ง เป็นต้น ด้านใต้ของตลาดต้นลำไย เป็นที่ตั้งหน่วยราชการสำคัญของไทยและต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่มีที่ทำการข้าหลวงใหญ่ กรมไปรษณีย์โทรเลข ที่ว่าการอำเภอ ศาลระหว่างประเทศ กงสุลอังกฤษ กงสุลฝรั่งเศส สถาบันการศึกษาคาทอลิก ชุมชนจีนฮ่อ และชุมชนมุสลิม เป็นต้น เริ่มเกิดชุมชนชาวกาดเมื่อประมาณ ๑๒๐ปีก่อน ด้วยมีชาวบ้านในท้องถิ่นใกล้เคียงเริ่มทยอยนำสินค้าและผลผลิตเข้ามาวางขาย มีลักษณะเป็นกาดหมั้ว๑หรือกาดก้อม ต่อมาได้มีการขยายตัวเป็นชุมชนใหญ่ กลายเป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าย่ายเศรษฐกิจที่สำคัญของเชียงใหม่แห่งใหม่ สันนิษฐานด้วยเหตุผลดังนี้
3.ประวัติความเป็นมาของตลาดต้นลำไย จาก fb: ‎Pirote Saechew‎ ถึง ภาพเก่าเล่าเรื่อง ๑. การสร้าง "ขัวไม้สัก" ข้ามแม่น้ำปิง หลังจาก นายแพทย์ เอ็ม เอ ชีค ได้สร้าง ขัวไม้สักหมอชีค ในปี พ.ศ.๒๔๒๗ เชื่อมทั้งสองฝั่งแม่น้ำปิงทำให้ชาวบ้านสองชุมชน คือบ้านวัดเกตการามและบ้านช้างม่อย เริ่มติดต่อกันมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการค้าขาย เริ่มระบายสินค้าจำเป็นจากชาวจีนบ้านวัดเกต ส่งมาขายให้ชาวพื้นเมืองริมฝั่งปิงบ้านช้างม่อย ได้เกิดชุมชนชาวกาดเล็กๆ ทำมาค้าขายกระจายกันตามริมฝั่งน้ำปิงบริเวณใกล้สวนลำไย ๒. การอพยพของชาวจีนหนีขบถพญาผาบ (พญาปราบสงคราม) เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง คือ การก่อการขบถของเจ้าพญาปราบสงคราม บ้านหนองจ๊อม อำเภอสันทราย พ.ศ.๒๔๓๒ พญาผาบประกาศกวาดล้างข้าราชการไทย พ่อค้าชาวจีน และเจ้าภาษีนายอากรที่จัดเก็บภาษีอย่างขูดรีด ทั้งยังจับชาวบ้านหนองจ๊อมไปคุมขังจำขื่อคาประจาน ขบถพญาผาบส่งผลให้พ่อค้าชาวจีนย่านวัดเกตและ "หล่ายหน้า" เกือบทั้งหมดอพยพหลบหนีข้ามฟากข้ามแม่น้ำปิงมาอาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งถนนวิชยานนท์ เกิดชุมชนกาดต้นลำไยและกาดหลวง เป็นลักษณะของกาดก้อมหรือกาดหมั้ว มีชาวบ้านในท้องถิ่นเริ่มหาบสินค้าจำเป็นต่อการยังชีพและผลิตผลทางด้านการเกษตรมาขาย บ้านช้างม่อยเริ่มมีผู้คนมาอาศัยอยู่มากขึ้น ๓. การสร้างตลาดวโรรสของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พ.ศ.๒๔๕๓ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีพระประสงค์ที่จะสร้างกาดหลวงเพื่อให้มีรายได้พอเลี้ยงชีพแก่วงศาคณาญาติเจ้านายฝ่ายเหนือ เพราะพระราชชายาตระหนักถึงการปฏิรูปการปกครองของสยามในสมัยรัชกาลที่๕ ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออำนาจและรายได้ของเจ้าหลวงและเจ้านายฝ่ายเหนือ จึงได้ย้ายกู่หรืออัฐิเจดีย์ของเจ้านายฝ่ายเหนือจากสุสานช่วงเมรุไปสร้างใหม่ รวบรวมไว้ที่วัดสวนดอก และได้สร้างตลาดวโรรสขึ้นแทน ทำให้เกิดชุมชนชาวกาดหลวง บ้านช้างม่อยถึงบ้านท่าแพขึ้น พ่อค้าแม่ค้าทั้งในท้องถิ่นและต่างอำเภอได้นำผลผลิตและสินค้ามาวางขาย ได้หาบข้างของมาตั้งขายให้ชาวบ้านจับจ่ายซื้อของตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเย็น วางขายในที่โล่งและกางร่มกันแดดกันฝน ซึ่งชาวกาดยุคแรกเรียก "กาดหมั้ว" หรือ "กาดหลวง" ชาวกาดในยุคแรกนั้นถ้าเป็นพ่อค้าหรือผู้ขายนิยมนุ่งผ้าต้อยไม่สวมเสื้อ ส่วนแม่ค้านิยมแต่งกายด้วยการนุ่งซิ่น ห่มผ้าสะหว้ายแหล้ง ยามอากาศร้อนแม่ค้า หาบของหนักมักจะสะบัดผ้าสะหว้ายแหล้งพาดคอ เดินเปิดอก คาบบุหรี่ขี้โย ๔. การสร้างสะพานนวรัฐ พ.ศ.๒๔๕๓ และ พ.ศ.๒๔๖๔ สะพานนวรัฐ นับเป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งที่๒ ต่อจากสะพานหมอชีค ซึ่งชาวบ้านเรียก "ขัวเก่า" เรียกสะพานนวรัฐว่า "ขัวใหม่" ซึ่งมีโครงสร้างเป็นไม้สักหลังคาสะพานเป็นมุมโค้ง สร้างครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๕๓ โดยวิศวกรชาวอิตาลี เชื่อมถนนท่าแพกับถนนแม่ออน (เจริญเมือง-สันป่าข่อย) ทำให้แหล่งการค้าจากย่านวัดเกตการามขยายมาสู่บ้านท่าแพและถนนวิชยานนท์ ต่อมาหลังจากที่สยามได้สร้างสถานีรถไฟถึงเชียงใหม่ รถไฟสามารถขนถ่ายสินค้ามาถึงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ทำให้การขนส่งทางเรือหางแมงป่องสิ้นสุดลง มีการใช้เส้นทางทางบกแทน ในปีเดียวกันทางการได้สร้างสะพานนวรัฐที่มีโครงสร้างเป็นเหล็กแทนสะพานไม้ที่ชำรุดใช้การไม่ได้ เพื่อรองรับการขนส่งทางรถยนต์ เป็นเหตุผลอีประการหนึ่งที่ทำให้ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจการค้าไม้ย้ายจากย่านวัดเกตการามมาอยู่บริเวณด้านท่าแพ ช้างม่อย กาดหลวง กาดต้นลำไย และถนนเจริญเมือง กาดสันป่าข่อย เป็นต้น ที่น่าสัเกตอีกประการหนึ่งคือเริ่มมีถนนเศรษฐกิจอีกสายหนึ่ง ได้แก่ ถนนเจริญเมือง เชื่อมถนนท่าแพตั้งแต่สถานีรถไฟถึงประตูท่าแพ กลายเป็นย่านการค้าธุรกิจและบันเทิง มีโรงภาพยนตร์ยุคแรก คือ โรงหนังตงก๊ก ตงเฮง และตงซัน (ในกาดสันป่าข่อย เจ้าของกาดชื่อศรีโอ๊ะ อินทพันธุ์ นายกสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย) กาดต้นลำไยและกาดหลวงวโรรส ได้มีการพัฒนาความเจริญไล่เลี่ยกัน ผู้เฒ่าชาวกาดเก่าเล่าว่า เดิมกาดต้นลำไยเป็นแหล่งเลี้ยงช้างและที่อาบน้ำช้างของเจ้าหลวงหรือท่าช้างซึ่งอยู่ด้านเหนือ ต่อมาหม่องปันใหย่วหรือ หลวงโยนการพิจิตร ต้นตระกูลอุปโยคิน พ่อค้าไม้สักเชื้อสายพม่าได้มาจับจองขอเช่าและใช้เป็นที่เลี้ยงช้างชักลากไม้ซุงที่ล่องมาตามแม่น้ำปิงของบริษัทบอร์เนียวและบริษัทบอมเบย์ หม่องปันโหย่วได้สร้าง "เฮือนแป" ห้องแถวไม้ติดกับแม่น้ำปิงให้คนงานส่วนหนึ่งซึ่งเป็นชาวม่าน เงี้ยว และขมุ อาศัยอยู่แถบด้านใต้ เมื่อเกิดชุมชนชาวกาดหลวงเพิ่มขึ้น พ่อค้าแม่ค้าได้ทยอยนำสินค้าข้ามถนนวิชยานนท์มาวางขายตามใต้ต้นลำไย จึงเริ่มเกิด "กาดก้อม" ขึ้นและพัฒนามาเป็นกาดต้นลำไย ที่ชาวบ้านเรียกว่า "กาดหลวงโยน" ในภายหลัง หลวงโยน คือ หม่องปันโหย่ว อุปโยคิน คหบดีชาวพม่าเชื่อสายมอญมีอาชีพหลากหลาย ทั้งการค้า ตั้งโรงพิมพ์อุปโยคิน ออกหนังสือพิมพ์ "ดัดจริต" เล่มแรกของเชียงใหม่ สร้างบ้าน สร้างร้านค้าให้เช่า และอาชีพที่ทำให้ร่ำรวยก็คือ การค้าไม้สักกับบริษัทบอร์เนียวและบอมเบย์เบอร์มาได้ช่วยเหลือสังคมและทางการ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโยนการพิจิตร มีบ้านอยู่ที่ถนนเจริญประเทศ บริเวณโรงย้อมที่ตั้งโรงแรมเพชรงามในปัจจุบัน หลวงโยนการพิจิตรได้ปรับสวนลำไยให้ราบเรียบเหลือต้นลำไยไว้ ๓ ต้น และได้สร้างห้องแถว "เฮือนแป" ไม้ชั้นเดียวบนฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งเดิมมีพวกม่าน พวกขมุ คนเลี้ยช้าง พวกเลื่อยไม้และคนงานทำไม้อาศัยอยู่ ต่อมาชาวจีนเข้ามาขอเช่าอาศัยอยู่เพื่อเปิดร้านทำมาค้าขาย ทั้งในกาดหลวงโยนและกาดหลวงวโรรส จึงได้มีการขยายการสร้างเฮือนแปกว่า ๒๐ หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนอพยพ ที่เหลือเป็นคนเมือง คนไทยและม่านเข้ามาเช่าอาศัยอยู่ ด้านหน้าบ้านเฮือนแป เป็นลานช่วง มีต้นลำไยใหญ่ ๓ ต้นเป็นร่มเงาให้พ่อค้าแม่ค้าวางขายสินค้าหาบแร่ค้าขายส่วนใหญ่กางร่มบังแดด ในขณะที่กาดหลวงวโรรส มีพ่อค้าชาวไทย คนเมืองและชาวชนบทมาปักหลักตั้งร้านค้าถาวรมากขึ้น จนเริ่มเป็นชมชนชาวกาดใหญ่ขึ้น ต่อมาหลวงโยนได้สร้างบ้าน "เฮือนไม้" ๒ ชั้นติดถนนวชยานนท์เริ่มทางด้านเหนือ บ้านหลังแรกคือบ้านแปะจุ้น (ต้นตระกูลร้านอี้จุ้นหลี) ลูกพ่อค้าปากน้ำโพรู้จักกับหลวงโยนซึ่งได้ชักชวนให้อพยพมาตั้งร้านค้าอยู่หน้ากาดต้นลำไย ต่อมาได้สร้างห้องแถวต่อเป็นเฮือนแปติดถนนวิชยานนท์ตรงกันข้ามกาดหลวงวโรรส ชาวบ้านเรียก กาดหลวงโยน กาดต้นลำไย หรือกาดข่วงเมรุ ยุคที่ ๓ ยุคเฮือนแปกาดต้นลำไย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึง พ.ศ.๒๔๙๖ หลังจากหลวงโยนการพิจิตร พ่อค้าไม้ ได้สร้างกาดหลวงโยนขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง เริ่มมีชุมชนชาวกาดเข้ามาทำการค้าในลักษณะกาดก้อม ธุรกิจการค้าไม้ของหลวงโยนการพิจิตรก็ประสบปัญหาการเงิน จึงได้หยิบยืมเงินจากมิตรสหาย เช่น อาแปะจุ้น (อี้จุ้นหลี) และทำสัญญาเงินกู้จากหลวงอนุสารสุนทร และแปะอุย แซ่เหลียว (เหลียวย่งง้วน) แต่กิจการค้าไม้ของหลวงโยนการพิจิตรก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงถูกฟ้องร้อง กิจการกาดต้นลำไยจึงได้เปลี่ยนเจ้าของมาเป็นของสองตระกูล คือ ตระกูลเลียวและตระกูลชุติมา กาดต้นลำไยได้พัฒนาความเจริญขึ้น ได้มีการสร้าง "โฮงขายสินค้า" กลางข่วงกาด โดยตัดต้นลำไยที่อยู่กลางกาด มีลักษณะเป็นกาดที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับกาดวโรรส แต่กาดต้นลำไยต่างจากกาดหลวงคือ มีถนนตัดผ่านระหว่างเฮือนแปติดน้ำปิงกับโฮงขายสินค้า พ่อค้าแม่ค้าจากต่างอำเภอจะโดยสารรถคอกหมู นำสินค้าเข้ามาขายในกาดต้นลำไยและกาดวโรรส สภาพกาดต้นลำไย มีลักษณะคล้ายสถานีขนส่งสินค้า ระบายผลิตผลจากชนบทสู่เมืองเชียงใหม่ ต่อมาเฮือนแปกาดต้นลำไยถูกรื้อในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของครอบครัวชาวกาดและการขยายตัวของธุรกิจการค้าสู่หน้าศาลเจ้าปุงเถ่ากง กาดนวรัฐ (กาดเจ๊กโอ๊ว) และกาดเทศบาล ยุคที่ ๔ กาดต้นลำไย ยุคตึกห้องแถว พ.ศ.๒๔๙๗-๒๕๑๑ หลังจากสงครามโลกครั้นที่ ๒ ผ่านไป ความเจริญทางด้านธุรกิจการค้ามีมากขึ้น เจ้าของตลาดต้องการที่จะพัฒนา ในขณะที่ "เฮือนแป" เริ่มทรุดโทรมลงตามกาลเวลาที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องรื้อเฮือนแปห้องแถวไม้เพื่อสร้างตลาดใหม่เป็นตึกแถวชั้นเดียวและโฮงกาดใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ สภาพกาดต้นลำไยจึงมีลักษณะเป็นตลาดที่สมบูรณ์เป็นแหลงธุรกิจการค้าของพ่อค้า แม่ค้า แต่สภาพชีวิตชาวกาดของเด็กที่อาศัยอยู่ที่เฮือนแปและลงเล่นสนุกสนานในแม่น้ำปิงไม่มีอีกแล้ว ร้านค้าในตลาดเปิดธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง กลายเป็นชุมชนชาวกาดขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง "โฮงไม้" ขายสินค้าและอาหารกลางตลาดต้นลำไย ได้เปลี่ยนเป็นโฮงคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้นลำไยที่เหลือในตลาด ๑ ตัน หน้าเฮือนแป และอีก ๑ ต้นอยู่แถวใกล้ศาลเจ้าถูกตัดทิ้ง เหลือแต่ชื่อตลาดต้นลำไย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๑ เกิดอัคคีภัยเผาผลาญ เริ่มจากตลาดต้นลำไยลุกลามสู่ตลาดวโรรสจนทำให้อาคารร้านค้า ห้องแถว บ้านที่อยู่อาศัยทั้ง ๒ ตลาดถูกไฟไหม้ไม่เหลืออะไร ถือเป็นการสิ้นสุดชีวิตชาวกาดเก่าจนเกือนจะหมดสิ้น ยุคที่ ๕ กาดต้นลำไย ยุคร้านค้าในอาคาร พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๔๗ ส่วนตลาดต้นลำไยผู้ถือหุ้นและผู้บริหารกิจการตลาดยังเป็นของตระกูลชุติมา และตระกูลเลียว ได้สร้างอาคารครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมด มีพื้นที่ยกระดับ ๒ ชั้น ภายในเป็นการขายแบบตลาดสด มีการขายข้าวปลาอาหารสด และอาหารแห้ง ด้านหลังตลาดขายดอกไม้สด และเทศบาลนครเชียงใหม่ได้แก้และปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยรื้อสิ่งปลูกสร้างด้านหลังกาดต้นลำไยและร้อห้องแถวของชุมชนศาลเจ้าเกือบทั้งหมด เพื่อสร้างถนนตัดใหม่เชื่อมถนนไปรษณีย์เลียบน้ำปิง สร้างทางเท้าและเขื่อนริมตลิ่งกั้นแม่น้ำปิง เป็นแนวเชื่อมกับถนนวิชยานนท์ตั้งแต่หน้าตลาดเทศบาล ตลาดนวรัฐอ้อมด้านหลังตลาดต้นลำไย ตัดเข้าสู่ชุมชนศาลเจ้าทะลุไปรษณีย์โทรเลข และสถานีตำรวจแม่ปิงสู่สี่แยกเชิงสะพานนวรัฐ ส่วนด้านหน้าตลาดต้นลำไยได้มีการสร้างตึกห้องแถว ๔ ชั้นเป็นร้านค้า ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้สร้างอาคารจอดรถด้านหลังตลาดรอบตลาดต้นลำไย มีพ่อค้า แม่ค้าหาบเร่มาตั้งร้านขายของถาวรทั้งกลางวัน กลางคืน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ปัญหาความแออัดของชุมชน การจราจรและมลภาวะจึงเกิดขึ้นทั้ง ๒ ตลาด คือ ตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรส ซึ่งกลายเป็นย่านธุรกิจและแหล่งการค้าที่มีชุมชนหนาแน่นที่สุดของเชียงใหม่ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่๑ แม่เล่าให้ฟังว่า แม่เป็นชาวบ้านวัดศรีสุพรรณ ชื่อ บุญชุม สมนาวรรณ ตอนเป็นสาว แม่หาบข้าวสารเดินมาขายที่กาดหลวงบ้าง กาดเก๊าลำไยบ้าง เดินจากประตูเชียวใหม่ลัดมาทางตรอกวัดผ้าขาว ผ่านประตูท่าแพ เข้าตรอกช่วงเมรุสู่กาดหลวงและกาดเก๊าลำไย มีวันหนึ่งแม่หาบข้าวมาถึงบ้านวัดผ้าขาว เกิดปวดฉี่ เพื่อนแม่แนะนำให้ยืนฉี่ โดยยืนถ่างขา มือข้างหนึ่งจับหาบ อีกข้างหนึ่งจับซิ่น(ผ้าถุง) ยกขึ้น ทำเหมือนป้าที่เดินนำหน้าแต่แม่ซึ่งเป็นสาวอยู่รู้สึกอาย ไม่กล้ายืนฉี่ จึงต้องหาบข้าวเดินกลับบ้านศรีสุพรรณ เสียเวลาอีกค่อนวัน วันนั้นเลยไม่ได้ขายข้าว แม่พบเตี่ยชื่อ นายหลีฮวด แซ่จิว ในกาดหลวง เตี่ยเป็นคนเมืองเพชร มีพี่น้อง๖คน อพยพมาทมาค้าขายในกาดหลวง๕คน เตี่ยเป็นลูกคนที่๓ ญาติเรียกซาเจ๊ก หลังจากรู้จักแม่บุญชุม จะขี่รถถีบขี้เมี่ยง (เป็นสนิม-บรรณาธิการ) ตามจีบแม่ไปจนถึงที่บ้านศรีสุพรรณ ประตูเชียงใหม่ มักจะซื้อปลา ซื้อหมู ผลไม้ไปฝากอุ๊ยเป็นประจำตามประสาหนุ่มจีน อุ๊ยกินไม่หมดก็ใส่เปี้ยดหาบไปขายประตูเชียงใหม่ เป็นที่ถูกใจแม่อุ๊ยใส(ยายใส)ยิ่งนัก แนะให้เลือก "เจ็กหลี" เพราะคนจีนมักจะอุปการะดูแลครอชบครัวได้ดีกว่าหนุ่มไทย ถึงแม่ว่าช่วงนั้นจะมีนายร้อยชาวใต้มาจีบก็ตาม หลังจากแต่งงานแล้ว เตี่ยกับแม่ก็มาเช่าบ้านห้องแถวข้างจวนเทศาภิบาลเหนือ ข้างคุ้มเจ้าดารา ใกล้เจดีย์กิ่ว ทั้งสองผัวเมียได้ทำมาค้าขายในกาดหลวง ต่อมาก่อนสงครามโลกครั้งที่๒ เตี่ยแม่ได้ย้ายครอบครัวมาเช่าห้องแถว เฮือนแปติดริมน้ำปิง ในกาดเก๊าลำไย เตี่ยมีเมียชาวจีนอีกคนอยู่บ้านหน้าศาลเจ้า เช่าห้องแถวของอาเจ็กง่วนชุน(ตันตราภัณฑ์) เตี่ยมีอาชีพขายปลาสดในกาดหลวง แม่ทั้งสองขายผ้าอยู่ในโฮงกาดหลวง ญาติพี่น้องของเตี่ยเกือบทุกคนเป็นครอบครัวชาวกาดที่สมบูรณ์ แม่เล่าว่า กาดเก๊าลำไยมีต้นลำไย ๒-๓ ต้น ต้นที่๑ อยู่กลางช่วงกาด เมื่อเจ้าของกาดสร้างโฮงในกาดจงได้ตัดทิ้ง ต้นที่๒ อยู่หน้าเฮือนแปหน้าบ้านแม่ และต้นที่๓ อยู่นอกกาดทางด้านใต้ ก่อนถึงหน้าศาลเจ้าปุงเถ่ากง ต้นลำไยต้นที่๑ และต้นที่๒ ถูกตัดทิ้ง พ.ศ.๒๔๙๖ หลังจากที่ได้ซื้อห้องแถวเฮือนแปในกาดเก๊าลำไยและหน้าศาลเจ้า เจ้าของกาดได้สร้างร้านค้าแบ่งเป็นล็อค ปรับปรุงกาดให้สมบูรณ์ ขึ้นป้ายชื่อ ตลาดต้นลำไย ลักษณะบ้านเฮือนแปในกาดเก๊าลำไย สภาพกาดเก๊าลำไย เดิมเป็นที่ว่างสวนห่างติดแม่น้ำปิง ด้านหน้าติดถนนวิชยานนท์ กั้นกาดหลวงวโรรส ด้านเหนือติดขัวหมดชีค ด้านใต้ติดศาลเจ้าจีนปุงเถ่ากง ต่อมาเจ้าของตลาดได้สร้างห้องแถวเฮือนแปไม้ติดแม่น้ำปิง ด้านหน้าเปิดเป็นร้านค้า กลางบ้านเป็นห้องนอน หลังบ้านเป็นห้องครัว ห้องน้ำและชานหลังบ้านหันสู่น้ำปิง (ฟากตรงข้ามแม่น้ำปิงเป็นบ้านวัดเกตการาม) ใต้ถุนบ้านสูงเป็นพื้นโล่ง ตลิ่งชันลาดลงสู่แม่น้ำปิง ช่วงสงครามโลกครั้งที่๒ ชาวกาดจะขุดหลุมหลบภัยใต้ถุนบ้าน ถ้ามีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดสะพานนวรัฐ ทางการเปิดสัญญาณ "หวอ" ชาวบ้านจะวิ่งหลบลงหลุมหลบภัย หลังสงครามใต้ถุนบ้านจะเป็นที่เล่นของเด็กและสุนัข สุนัขตัวเมียจะคลอดลูกในหลุมหลบภัย บ้านเฮือนแปจะยกพื้นสูงกว่าระดับน้ำปิงในยามน้ำท่วม น้ำท่วมพื้นที่ทั้ง๒ตลาด แต่ไม่เคยท่วมถึงบ้านเฮือนแป วันเวลาที่ผ่านไปมันไม่ใช่แค่ทำให้คนเราชรา มันยังทำให้เราโตขึ้น ทุกวันๆ ทำให้เรารู้มากขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น เข้าใจโลกในแง่มุมต่างๆได้มากขึ้น รู้จักชีวิตดีขึ้น ศรัทธาชีวิตมากขึ้น นั่นหรือมิใช่ความน่าจะเป็นไปของผู้คน หรือแค่เพียงให้ได้เกิดมาแล้วก็ตาย ให้ครบรอบวัฏสงสาร ขอบคุณ อาจารย์เสรินทร์ จิรคุปต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น