วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
02.11.2558 วิชาศีลธรรมอีกที โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ที่มา:มติชนรายวัน 2 พ.ย.2558)
วิชาศีลธรรมอีกที โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
(ที่มา:มติชนรายวัน 2 พ.ย.2558)
ข้อเสนอของนักเรียนมัธยมท่านหนึ่งที่ให้สอนวิชาปรัชญาแทนวิชาศีลธรรมในโรงเรียน ได้รับการตอบสนองจากนักวิชาการหลายฝ่ายด้วยกัน แต่เนื่องจากผมเชื่อว่าวิชาศีลธรรมยังมีประโยชน์ที่จะถูกนำมาเรียนรู้ในโรงเรียน ผมจึงอยากนำเอาเนื้อหาของวิชาศีลธรรมตามอุดมคติของผมมาพูดถึง ไม่ใช่เพื่อแข่งกับวิชาปรัชญานะครับ เพราะจะสอนวิชาปรัชญาในโรงเรียนด้วยผมก็เห็นว่าดี สอนเลยครับ โดยไม่ต้องเอามาแทนวิชาศีลธรรม
ดังที่ผมเคยพูดไว้แล้วในบทความเกี่ยวกับวิชาศีลธรรมว่า สาระสำคัญของศีลธรรมคือประโยชน์ของคนอื่น, สัตว์อื่น, สิ่งอื่น ที่ไม่ใช่ตัวเราเอง ผมจับสาระของคำนี้จากภาษาอังกฤษว่า morals, moral, moralistic ซึ่งเอามาใช้ในทางที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาได้ และใช้อย่างนั้นอยู่บ่อยๆ ด้วย ผมทราบดีว่าคำศีลธรรมในภาษาไทยอาจหมายถึงศีล+ธรรมทางพุทธศาสนาก็ได้ แต่ตามการตีความของนักปราชญ์ไทย ศีลธรรมในความหมายนี้ ไม่ค่อยเกี่ยวกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น ส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวกับความประพฤติทางกาย วาจา ใจของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่แต่ละคนเรียนรู้จากประสบการณ์มากกว่าจะเอามาสอนกันในชั้นเรียน ผมจึงเห็นว่าหากศีลธรรมมีความหมายเช่นนี้ ก็ไม่ต้องสอนในโรงเรียนดีกว่า ถึงสอนก็หลอกๆ กัน ไปไม่ถึงจุดหมายที่แท้จริงในทางศาสนาหรอกครับ
และสิ่งที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทำไม่ได้เลยคือหลอกเด็กและหลอกสังคม
สาระสำคัญของวิชาศีลธรรมตามความคิดของผมก็คือ ความทุกข์ของคนอื่น, สัตว์อื่น, และสิ่งอื่นในโลกปัจจุบัน เพื่อจะรู้ว่ามันมีที่มาอันสลับซับซ้อนอย่างไร และทางออกจากทุกข์เท่าที่มีผู้คิดเสนอ, เท่าที่มีการทดลองทำ, และเท่าที่เราจะคิดได้คืออะไร ผมทราบดีว่าศาสนาทั้งหลายล้วนพูดถึงทุกข์ของมวลมนุษย์ทั้งนั้น พูดโดยตรงเช่นพระพุทธศาสนาบ้าง หรือพูดโดยอ้อมเช่นคริสต์ศาสนาบ้าง แต่ทุกข์เหล่านั้นเป็นทุกข์ของตนเอง มากกว่าทุกข์ของมวลมนุษย์ เช่น ความพลัดพรากก็เป็นทุกข์, ความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาก็เป็นทุกข์, ความไม่คงทนถาวรของสิ่งที่ชอบก็เป็นทุกข์, ฯลฯ
ถึงหากจะมีการกล่าวถึงความทุกข์ของคนอื่น ก็เป็นทุกข์โบราณครับ มีเหตุที่เห็นได้ง่าย และดังนั้นจึงมองเห็นทางแก้ได้ง่าย เช่น บ้านเมืองที่ถูกโจรร้ายบีฑา, สงครามแย่งช้างเผือกหรือแย่งแม่น้ำ, ฯลฯ แต่ความทุกข์ของคนสมัยปัจจุบันมีเหตุอันสลับซับซ้อนกว่านั้นมาก อีกทั้งแตกต่างจากทุกข์โบราณเสียจนไม่ได้กล่าวถึงไว้ในคัมภีร์ศาสนาต่างๆ
ความทุกข์เช่นนี้แหละครับที่ผมคิดว่าคนในโลกปัจจุบันต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ดี
ผมจะพูดถึงความทุกข์ของโลกสมัยใหม่ที่ผู้คนจำนวนมากต้องทนทุกข์อยู่ในเวลานี้ แต่ก็จะพูดถึงเป็นตัวอย่างเท่านั้นว่า เราควรนำเอาความทุกข์เหล่านั้นมาเรียนรู้กันในโรงเรียน (จนถึงมหาวิทยาลัย) อย่างไร ดังนั้นจึงมีความทุกข์ที่ควรเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรศีลธรรมอีกมากที่ผมไม่ได้พูดถึง เมื่อไรที่จะสอนศีลธรรมกันในลักษณะนี้ ค่อยระดมคนมาช่วยกันคิดได้
ความยากจน โลกที่สามารถดึงเอาทรัพยากรมาผลิตอะไรต่อมิอะไรได้มากมายในทุกวันนี้ กลับเต็มไปด้วยคนจน ขาดแคลนนับตั้งแต่อาหาร, น้ำดื่ม, ยารักษาโรค, ที่อยู่อาศัย, และการศึกษาที่จำเป็นในการดำรงชีวิตภายหน้า ฯลฯ แต่ความยากจนของปัจจุบันมีที่มาหลากหลายทางมาก วิชาศีลธรรมจะสอนให้เรารู้จักสำรวจความยากจนของโลกปัจจุบัน ตลอดถึงเรียนรู้สาเหตุของความยากจนแต่ละชนิดว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร การจะออกจากความยากจนดังกล่าวต้องเผชิญกับอุปสรรคอะไรบ้าง ความเป็นไปได้ที่คนจำนวนมาก (ไม่ใช่ผู้เรียนคนเดียว) จะหลุดพ้นจากความขาดแคลนเหล่านั้นมีมากน้อยสักเพียงไร
แม้ว่าความยากจนคงมีในทุกยุคทุกสมัย แต่น่าประหลาดที่ความขาดแคลนหลายอย่างนั้น ในสมัยหนึ่งไม่ได้มีมากเท่านี้ เช่น ชนเผ่าในแอฟริกาเคยสามารถเคลื่อนย้ายฝูงสัตว์เลี้ยงของตนไปตามฤดูกาลได้ รวมทั้งหาอาหารจากสัตว์ป่าและพืชป่า พวกเขาไม่ได้อดอยากอย่างในทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นความขาดแคลนหรือความยากจนจึงไม่ใช่ลักษณะสากลอย่างที่มักจะพูดกัน แต่ความยากจนมีความต่างกันในแต่ละเงื่อนไข หรือแต่ละยุคสมัย ผู้เรียนศีลธรรมต้องเข้าใจความทุกข์แห่งยุคสมัยให้ชัด ไม่ดึงความทุกข์ของยุคสมัยไปเป็นความทุกข์สากล และได้แต่ท่องบ่นข้อธรรมที่ทำให้พ้นทุกข์เพียงอย่างเดียว
สงครามและความรุนแรง สงครามก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากในทุกยุคทุกสมัย แต่สงครามในปัจจุบันก่อให้เกิดความเสียหายได้กว้างขวางกว่ากันมาก นอกจากอาวุธยุทธภัณฑ์ทันสมัยที่มีอำนาจทำลายล้างสูงแล้ว สงครามคือความขัดแย้งสุดโต่ง ทั้งสองฝ่ายจึงทำร้ายกันด้วยอาวุธทางเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมไปด้วย แม้ไม่ได้ใช้อาวุธต่อกันเลยก็ตาม อาวุธประเภทหลังนี้อาจมีพลังทำลายล้างได้สูงกว่าอาวุธยุทธภัณฑ์เช่นปืนใหญ่หรือเครื่องบินรบด้วยซ้ำ และที่จริงโลกเราในปัจจุบันเผชิญกับสงครามในลักษณะดังกล่าวมากเสียกว่าสงครามที่ใช้อาวุธระหว่างรัฐเสียอีก คนปาเลสไตน์ต้องใช้เวลาหลายสิบปีเพื่อเอาตัวรอดจากอาวุธทางการทูตที่มหาอำนาจตะวันตกไม่ยอมรับรองความเป็นรัฐของเขา ทำให้เขาไม่สามารถป้องกันตนเองจากการรังแกของเพื่อนบ้านได้ โดยมหาอำนาจตะวันตกยังไม่ได้ยิงปืนใส่ปาเลสไตน์สักนัดเดียว แต่มีคนเจ็บ คนตาย คนพิการ คนอดอยาก คนสิ้นหวังเกิดขึ้นในปาเลสไตน์จำนวนมหาศาล
สงครามระหว่างรัฐในโลกปัจจุบัน อาจจำกัดอยู่แต่ในรัฐเล็กๆ ในบางภูมิภาคเท่านั้น แต่ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธภายในรัฐต่างๆ กลับมีมากขึ้น ผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธและความรุนแรงมีทุกข์อย่างหนัก ทำลายชีวิตของคนจำนวนมากลง ทั้งๆ ที่ยังมีลมหายใจอยู่
ในหลายรัฐ ความรุนแรงถูกใช้เป็นเครื่องมือของการปกครอง ความรุนแรงเช่นนี้ทำลายชีวิตลงอย่างเดียวกับสงครามระหว่างรัฐและความขัดแย้งภายใน ทั้งตัดลมหายใจของผู้คนออกไป และตัดโอกาสในชีวิตของคนที่มีลมหายใจอยู่
สงครามและความรุนแรงคือทุกข์อันใหญ่ของโลกปัจจุบัน ศีลธรรมต้องทำให้ผู้เรียนเข้าใจความทุกข์ใหญ่อันนี้ เราสอนศีลธรรมในประเทศไทยโดยไม่พูดถึงสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้, นโยบายเหมืองทอง, นโยบายเขื่อน ฯลฯ ได้อย่างไร เพราะนั่นเป็นเรื่องของศีลธรรมเสียยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น
สิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม แม้ระบอบประชาธิปไตยขยายไปทั่วโลกกว้างขวางกว่าที่เคยเกิดขึ้นในสมัยใด แต่สิทธิเสรีภาพของผู้คนไม่ได้ขยายตัวไปในขนาดและจำนวนเท่ากับประชาธิปไตย จำนวนไม่น้อยของรัฐต่างๆ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เหยียดหยันความเท่าเทียมเป็นความเหลวไหล แม้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพกลับถูกตีความให้เป็นเพียงเสรีภาพที่จะหากำไรทางเศรษฐกิจโดยไม่มีขีดจำกัด ทำให้คนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยลงตามความเป็นจริง และไม่มีโอกาส "เลือก" ชีวิตอย่างเสรี อำนาจต่อรองของคนเล็กๆ กลับน้อยลง
นี่เป็นทุกข์ใหญ่ของคนในโลกปัจจุบันซึ่งศีลธรรมต้องใส่ใจอย่างหนัก วิชาศีลธรรมจึงต้องทำให้ผู้เรียนเข้าใจมิติของสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกปัจจุบันให้ดี
สังคมเมือง เวลานี้กว่าครึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมือง และในอนาคตอันใกล้ตัวเลขนี้อาจสูงถึง 80-90% เมืองเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ที่มนุษย์ไม่คุ้นเคยนัก (เรามีวัฒนธรรมประเพณี, กฎหมาย, การจัดการ, ฯลฯ ในการดำรงชีวิตร่วมกันในชนบทมากมายในทุกสังคม แต่แทบจะไม่มีสิ่งเหล่านั้นในสภาพแวดล้อมของเมืองสมัยใหม่เลย) มีความทุกข์ใหม่ๆ ของผู้คนที่เกิดในสังคมเมืองจำนวนมาก เช่นคนจนเมืองกับคนจนในชนบทนั้นแม้เป็นทุกข์เหมือนกัน แต่ทุกข์ไม่เหมือนกัน ศีลธรรมต้องทำให้เข้าใจความทุกข์ลักษณะพิเศษนี้ ผู้เรียนศีลธรรมอาจทำการศึกษาภาคสนามเกี่ยวกับความทุกข์ประเภทนี้ได้มาก ก่อนจะนำมาอภิปรายถกเถียงกันในชั้นเรียน หรือในรายงานที่เขียนขึ้น
ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและวิถีชีวิต ศีลธรรมที่ย้ำแต่ประโยชน์ตน มักมองเรื่องความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศว่าจะทำให้ไทยไม่ได้สิทธิจีเอสพี หรือถูกลงทัณฑ์ทางเศรษฐกิจจากประเทศคู่ค้า แต่ศีลธรรมที่เน้นคนอื่น, สัตว์อื่น และสิ่งอื่น ต้องเข้าใจความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและวิถีชีวิตกว้างขวางลึกซึ้งกว่านั้น การลดลงของคุณภาพน้ำจืด, นิเวศที่เหมาะแก่การสืบพันธุ์ของสัตว์, วิถีชีวิตที่ถูกบังคับให้ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง, ฯลฯ จะมีผลต่อมนุษย์, สัตว์, โลก อย่างไร วงจรของความเสื่อมโทรมนี้จะกระทบต่อสิ่งเหล่านั้นในระยะยาวอย่างไร โลกร้อนแล้วใครจะเดือดร้อนบ้าง
ทุนนิยม-ชาตินิยม ทั้งสองอย่างเคยมีข้อดี และยังมีข้อดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในขณะเดียวกันก็มีขีดจำกัดของมันเองด้วย หากไม่สำนึกในขีดจำกัดเหล่านี้ ก็ทำให้ทั้งสองอย่างสร้างปัญหาร้ายแรงใหม่ๆ ที่เราอาจแก้ไม่ได้ เช่นโลกร้อนกับทุนนิยมนั้นแยกจากกันไม่ได้แน่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกทุนนิยมไปอย่างเด็ดขาด หากจะต้องเรียนรู้ขีดจำกัดของทุนนิยม และทำให้ทุนนิยมไม่ทำลายระบบนิเวศมากไปกว่านี้ ดึงเอาข้อดีวิเศษของทุนนิยมมาใช้ร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นต้น
ความทุกข์จำนวนมากของผู้คนในโลกปัจจุบันเกิดขึ้นจากสองอย่างนี้ ซึ่งศีลธรรมต้องตระหนักและกล้าเผชิญกับมันโดยตรง ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดว่าหากทุกคนใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ปัญหานี้ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะบัดนี้คนส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้อยู่อย่างพอเพียงไปนานแล้ว และปัญหาก็ได้เกิดไปแล้ว ศีลธรรมจึงต้องมีทั้งความเข้าใจและหนทางไปสู่การหาคำตอบร่วมกัน เพื่อคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่นสามารถมีชีวิตที่ไม่ต้องทนทุกข์กับปัญหาของทุนนิยม-ชาตินิยมที่ไร้ขีดจำกัดเช่นนี้
ศีลธรรมของโลกสมัยปัจจุบันย่อมชี้เหตุแห่งทุกข์ที่สลับซับซ้อนกว่าการกระทำของบุคคลเดียว หรือการตัดสินใจผิดเพียงครั้งเดียว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยโทษบุคคลไม่ได้ถนัดนัก เพราะทุกคนต่างมีส่วนร่วมทำให้เกิดปัญหาขึ้น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
หลักสูตรศีลธรรมในแนวนี้ที่เป็นจริง คงต้องจัดวางเนื้อหาและกิจกรรมให้เหมาะกับวัยและฐานความรู้ของผู้เรียน เช่นในเด็กชั้นประถมอาจเริ่มต้นที่แบ่งปันความทุกข์ระหว่างกันในชั้นเรียน (รวมความทุกข์ของครูด้วย) เพื่อฝึกเรียนรู้การมองเหตุแห่งทุกข์ให้กว้างและลึกกว่าการกระทำหรือไม่กระทำของบุคคล ฝึกมองปัญหาจากจุดยืนของคนอื่น ไม่ใช่จากมาตรฐานกลางของดี-ชั่วเพียงอย่างเดียว
ในขณะเดียวกัน (อาจเป็นฉันทาคติต่อศาสนาของผมเอง) เราควรชี้ให้เห็นว่าศาสนาต่างๆ มีทรรศนะต่อความทุกข์เหล่านี้เหมือนกัน เช่น ผู้รู้ในอิสลาม, คริสต์, ฮินดู, พุทธ ฯลฯ มองความทุกข์ที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศอย่างไร เป็นต้น มีคำตอบทางศาสนาให้แก่ความทุกข์เหล่านี้หรือไม่ และเราอาจวิพากษ์คำตอบนั้น (ลับหลังผู้รู้) ได้ด้วยว่า เป็นคำตอบที่ตอบได้จริงหรือไม่ ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ เพราะความทุกข์เหล่านี้ล้วนเป็นความทุกข์ใหม่ซึ่งศาสดาทั้งหลายคงไม่เจตนาจะตอบ แต่เป็นการตีความของผู้รู้เอง
หากศีลธรรมเป็นวิชาที่สอนให้รู้จักทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ในโลก มองเห็นศักยภาพของตนเองและสังคมที่เราเป็นส่วนหนึ่งว่าจะสามารถแก้หรือบรรเทาทุกข์เหล่านั้นได้อย่างไร นับตั้งแต่เปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัว (เลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างที่รณรงค์กัน) ไปจนถึงจัดองค์กรเพื่อทำให้เกิดพลังในการผลักดันทางแก้ทุกข์ให้สัมฤทธิผล ศีลธรรมจึงปลูกฝังความตระหนักถึงศักยภาพของมนุษย์ ไม่ใช่สอนให้ยอมรับชะตากรรมด้วยการปลีกตัวออกจากโลกที่ชั่วช้า
นี่คือวิชาศีลธรรมที่ผมอยากให้สอนในสถาบันการศึกษา ไม่ใช่ศีลธรรมอย่างที่สอนกันอยู่ในเวลานี้.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น