วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
02.11.2558 ร่วมสนับสนุนให้ "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยในรัฐธรรมนูญ" เพื่อจะได้มีกฎหมายลูกซึ่งเป็นเครื่องมือในการดูแลพระพุทธศาสนาให้เกิดความมั่นคงถาวรต่อไป.
ร่วมสนับสนุนให้ "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยในรัฐธรรมนูญ" เพื่อจะได้มีกฎหมายลูกซึ่งเป็นเครื่องมือในการดูแลพระพุทธศาสนาให้เกิดความมั่นคงถาวรต่อไป.
"พระพุทธศาสนา" กับน้ำใจของคนไทยในการพิทักษ์ปกป้อง
ท่ามกลางกระแสการรณรงค์ในประเด็น "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ในรัฐธรรมนูญ ย่อมมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องถูกหยิบยกนำเสนอประกอบเหตุผลดังกล่าวมากมาย ทั้งภัยภายในของพระพุทธศาสนาเอง ภัยภายนอกพระพุทธศาสนา ภัยจากลัทธิการเมืองการปกครอง หรือแม้แต่สถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อชี้ให้พุทธศาสนิกชนคนไทยได้ตระหนักรู้ร่วมกัน แล้วนำไปสู่ภาพของการขับเคลื่อนให้มีการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาด้วยกลไกอำนาจรัฐตามระบบที่มีอยู่ เช่นเดียวกับที่ บูรพมหากษัตริย์ทรงให้การอุปถัมภ์รักษาพระพุทธศาสนาตั้งแต่บรรพกาลจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
ทุกครั้งที่มีการหยิบยกเรื่องของการปกป้องพระพุทธศาสนา ก็จะมีการแสดงความคิดเห็นเป็นวงกว้าง โดยแบ่งเป็น ๒ แนวคิดใหญ่ๆ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ตระหนักถึงภัยต่างๆ ที่กำลังเข้ามาเบียดเบียนความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน ส่วนในอีกกลุ่มแนวคิดก็จะแสดงออกให้เห็นเช่น "พระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ใจไม่ใช่เรื่องของการเรียกร้องต่างๆ" "ก่อนเรียกร้องเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำไมไม่ทำให้คนไทยรักษาศีล ๕ ก่อน" หรือแม้แต่ "พระพุทธองค์ทรงสอนอริยสัจ ๔ ควรมุ่งสู่พระนิพพานมากกว่าควรปล่อยวาง เรื่องพวกนี้เป็นแค่เปลือก" เป็นต้น
เมื่อมองเห็นภาพดังกล่าวก็ชวนให้คิดถึงภาพที่ ไปพบเจอคนตกไปในแม่น้ำและกำลังจะจมน้ำแล้วมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามให้การช่วยเหลืออย่างสุดกำลัง แต่ในขณะอีกกลุ่มหนึ่งเดินมาดูแล้วบอกว่า สอนให้เขาว่ายน้ำให้เป็นซิ ว่ายเป็นแล้วเดี๋ยวเขาก็จะกลับเข้าฝั่งได้เอง หรือพยายามชี้นิ้วสั่งให้คนโน้น คนนี้ทำแบบนั้นแบบนี้ แถมยังพูดอีกว่า เดินยังไงให้ตกน้ำตกท่าทำไมไม่มีสติ ถ้าจมลงไปก็ถือว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม พวกที่พยายามช่วยอยู่ก็หัดปล่อยวางเสียบ้าง แล้วก็เดินจากไป...
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบพระพุทธศาสนาไว้ให้พุทธบริษัท และทรงมอบหน้าที่ต่างๆ ไว้ให้ชาวพุทธคือ การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติให้ได้ผล ตลอดจนสามารถเผยแผ่ได้อย่างถูกต้อง และเมื่อเกิดปัญหาในพระพุทธศาสนาก็สามารถแก้ไขชี้แจงกับผู้ที่ไม่เข้าใจได้ นี้จึงถือเป็นการทำหน้าที่ของชาวพุทธ มิใช่สร้างสารพัดข้ออ้างเพียงเพื่อจะหาเหตุให้ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตน ซึ่งซ่อนไว้ด้วยมิจฉาทิฏฐิ โมหาคติ และภยาคติ แล้วยังชี้หน้าผู้ที่กำลังทำหน้าที่ว่าไม่รู้จักปล่อยวาง
หากว่าชาวพุทธในยุคของเรานี้คิดเห็นกันแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ก็คงไม่แคล้วเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาในอดีต ที่เวลาผ่านล่วงมาจนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูพระพุทธศาสนากลับคืนมาได้ดังเดิม (ขอให้ลองไปศึกษาสาเหตุของการสูญสิ้นพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ประกอบด้วยว่าเกิดขึ้นจากอะไร ???)
พุทธชนคนไทยต้องมองย้อนให้เห็นว่าแม้ครั้งสมัยพุทธกาล เมื่อเกิดภัยในพระพุทธศาสนาขึ้นพระพุทธองค์ ทรงไม่นิ่งเฉยปล่อยวางไปทุกเรื่องราวแต่กลับใช้พุทธวิธี กุศโลบาย ต่างๆ นาๆ ด้วยพระมหาปัญญาคุณ ทั้งการบอก การปฏิเสธ(คว่ำบาตร) การเรียกร้อง(ประท้วง) อย่างครั้งมีพวกนักบวชนอกพระศาสนามาสร้างวิหารใกล้กับพระเชตวัน สุดท้ายพระพุทธองค์ต้องเสด็จพร้อมเหล่าภิกษุ ๕๐๐ รูป ไปถวายพระพรพระเจ้าปเสนทิโกศลที่กำลังหลงผิดให้กลับใจเสียใหม่ด้วยพระองค์เอง และแม้แต่พระราชามหากษัตริย์ในสมัยต่อๆ มาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช หรือในบ้านเมืองเราพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลก็ทรงยื่นอำนาจรัฐเพื่อให้การปกป้อง คุ้มครอง และอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในทุกยุคทุกสมัย
ด้วยประการต่างๆ ที่ได้กล่าวมา และประกอบกับในปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอำนาจผ่านระบบต่างๆ ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ประชาชน (ระบบประชาธิปไตย) และปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ ในห้วงเวลาเช่นนี้ก็เป็นเวลาที่ชาวพุทธในประเทศนี้จะต้องแสดงน้ำใจ และทำหน้าที่ของชาวพุทธเพื่อส่งให้เกิดความมั่นคงในพระพุทธศาสนา ต้องเร่งรัดให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสายเกินไป เพราะวันนี้ไม่มีเวลาปล่อยวางเพราะคิดว่าไม่ใช่ภาระธุระของตนเอง
ดังนั้นขอให้ชาวพุทธทั้งหลายได้ทำหัวใจของเราประดุจพระโพธิสัตว์เฉกเช่นพระมหาชนก ที่มุ่งมั่นว่ายฝ่าคลื่นลมพายุด้วยความไม่หวาดหวั่นว่าจะพบเจออุปสรรคปัญหาใดๆ และให้ตระหนักว่านี่คือหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อการส่งมอบอริยทรัพย์ คือพระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุษของเราได้รักษากันมาให้ตกสู่คนรุ่นต่อไปซึ่งเป็นลูกหลานของเราได้มีหลักอันประเสริฐเป็นเครื่องพึ่งพาชีวิตตราบนานเท่านาน
ด้วยการร่วมสนับสนุนให้ "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยในรัฐธรรมนูญ" เพื่อจะได้มีกฎหมายลูกซึ่งเป็นเครื่องมือในการดูแลพระพุทธศาสนาให้เกิดความมั่นคงถาวรต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี
พระครูวินัยธรธีรวิทย์ ฉนฺทวิชฺโช
รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
๒ พ.ย. ๒๕๕๘
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น