วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

"เทียนฉาย กีระนันทน์" วิเคราะห์คู่ขัดแย้ง 2 ขั้ว ... วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
สัมภาษณ์พิเศษ "เทียนฉาย" วิเคราะห์คู่ขัดแย้ง 2 ขั้ว "สู้กันที่ศาล ถ้าไม่ผิด ยกฟ้อง เป็นอันจบ" หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องหลุดจากวงโคจรแม่น้ำ 5 สาย ไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน หลังจากลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ "เทียนฉาย กีระนันทน์" อดีตประธาน สปช. เร้นกายไปอยู่หลังฉากการเมือง แต่ยังเฝ้าจับตาทุกความเป็นไปของบ้านเมือง ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ "เทียนฉาย" ในวันที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมาแทน สปช.เพิ่งเริ่มตั้งไข่ เขาท้วงติงรูปแบบการทำงานในฐานะผู้มีประสบการณ์ รวมถึงวิเคราะห์การต่อสู้ทางการเมืองของผู้เล่นหน้าฉากอย่างน่าสนใจ - หายไปหนึ่งเดือนได้พักบ้างหรือไม่ ได้พักดีขึ้นอย่างน้อยที่สุดไม่กังวล เพราะช่วงท้ายเดือนสิงหาคม กันยายน มีแต่ความกังวล ห้ามไม่ได้ เพราะกังวลว่า สปช.จะทำงานไม่เสร็จ แต่อย่างน้อยที่สุดแผนปฏิรูปที่ควรจะเป็นต้องเสร็จเป็นรูปธรรม ดีที่มันเสร็จทันเวลา แต่จะดีไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง - แผนปฏิรูปของ สปช.ที่อยู่ในมือ สปท.ยังไม่รู้ว่าจะลูกผีลูกคน ยังต้องกังวลหรือไม่ สิ่ง ที่กังวลในใจในฐานะประชาชนของประเทศอยากเห็นการปฏิรูปเกิดขึ้นเป็นเรื่อง เป็นราว อย่างน้อยที่สุดบางเรื่องที่เป็นประโยชน์ของประเทศควรจะต้องเกิดและเกิดใน ยุคนี้ อย่างน้อยที่สุดต้องเกิดก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป เช่น แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น บริหารราชการแผ่นดิน แก้ปัญหาการศึกษา - เห็นหน้าเห็นตา สปท.แล้วเป็นความหวังทำให้ปฏิรูปสำเร็จได้หรือไม่ สปท.พูดอะไรได้ยากมาก กว่าครึ่งเป็นคนแปลกหน้าของ สปช. มีข้อที่แปลกใจคือ เรื่องวิธีทำงาน เคยให้ความเห็นว่าอย่าเดินซ้ำรอย สปช. เพราะวิธีทำงานแบบรัฐสภา มันไม่ใช่ธรรมชาติของสภาปฏิรูป แต่การตั้งกรรมาธิการไปศึกษามา เอาผลมาเข้าสภา แล้วให้สภามีมติว่าเสียงข้างมากจะเอาอย่างไร มันไม่น่าจะเป็นแบบนั้น เพราะด้วยกติกาเช่นนั้น ทำให้เราหลอกตัวเองตรงที่เราไม่ได้พิจารณา หรอก เพราะทุกคนเข้าไปอยู่ในกรรมาธิการ พอประธานกดสัญญาณลงมติ ทุกคนก็ยกประชุมกรรมาธิการไว้ วิ่งกรูกันมาลงมติ "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" โดยยังไม่รู้ว่าลงมติเรื่องอะไร เพราะเขาวิ่งมา - หาก สปท.ทำงานในรูปแบบกรรมาธิการ โฉมหน้าของการขับเคลื่อนการปฏิรูปจะทำได้จริงหรือไม่ ไม่รู้ ถึงขณะนี้ยังตอบไม่ได้ ที่สำคัญมากคือ สปท.จะทำอะไร ต้องบอกตรงนี้ก่อน ถ้ายังใช้สูตรเดิมที่ให้ศึกษาและให้ข้อเสนอแนะ แต่ สปช.ทำหน้าที่นี้ไปแล้ว ดังนั้น ต้องทำมากกว่าศึกษาและให้ข้อเสนอแนะ คือทำแผนขับเคลื่อนว่า 1 2 3 4 ทำอะไร - ปรองดองเป็นหัวใจเหมือนการปฏิรูป จะทำอย่างไรให้การปรองดองเป็นรูปธรรม ความขัดแย้งที่เริ่มต้น มันเริ่มต้นมาจากกรณีไม่ได้ใหญ่โต ประการแรก คนไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้รับความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน และไม่เหมือนกัน เรื่องการตีราคาการชดเชยความเสียหายในทางเกษตร พื้นที่ตรงนี้ได้ไร่เท่านี้ พื้นที่นี้ได้ไร่เท่านี้ได้ต่างกันทั้งที่ตำบลติดกัน ไปจนอุ้มฆ่าเป็นอาชญากรรมทั้งที่จับตัวไม่ได้ ถัดมาผู้ที่แสวงหาประโยชน์ทางการเมืองเอาตรงนี้เป็นช่องว่างซื้อใจด้วยการทำอะไรบางอย่างสุดท้ายแผลของการไม่ได้รับความเป็นธรรมมันถูกแซะจนกว้างขึ้นและเลือดไหล แล้วเข้ามาอธิบายว่าถ้าฉันเป็นรัฐบาลฉันจะช่วย แล้วทำอย่างนี้จริงเมื่อเป็นรัฐบาล ปัญหาก็บานขึ้นจากฐาน ดังนั้น หลังจากรัฐประหาร 22 พ.ค.จัดการตรงจุด ไม่ทำแผลให้ถ่างมากขึ้น เลือดหยุดไหล แต่แผลยังไม่ได้แห้งสนิท เพราะคนที่ยังหวังประโยชน์ตรงนี้ก็คอยสะกิดแผลให้เลือดซึม ๆ มีเหตุใหม่ ๆ อีกหลายอัน แต่ฐานของความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่เป็นคดีอยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม ปรองดองจะเกิดขึ้นเมื่อคดีเหล่านี้ถูกตัดสินทั้งหมด ไปจนถึงเรื่องการเยียวยา เพราะมันสร้างมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันขึ้นมาอีก ระหว่างทหาร ตำรวจที่บาดเจ็บจากการทำงาน กับที่มาเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วเกิดความเสียหายได้รับชดเชยเท่าไหร่ ความต่างมันอธิบายได้ด้วยอะไร แล้วคนที่ก่อนหน้านั้นอยู่ในข่ายเดียวกันแต่ยังไม่ได้รับเงินสักบาทเดียวจะ อธิบายว่าอย่างไร ตัวเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ต้องรีบ สิ่งที่ต้องระวังจากนี้คือ อย่าเปิดแผลใหม่ เพราะแผลใหม่โอกาสเกิดสูงมากจากน้ำท่วมมาคือน้ำแล้ง พอน้ำแล้งตอนนี้มีปัญหา ถ้าปีนี้ปลูกข้าวไม่ได้ ปีต่อไปจะกินอะไร นี่คือปัญหา - การเมืองเดินมาถึงการใช้กฎหมายทุกวรรคทุกตอนเพื่อสู้กัน โดยเฉพาะรัฐบาลกับทีมทนายของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร ขิงก็รา ข่าก็แรง แต่ใช้คำนี้ก็ไม่ถูก ผมว่ากระบวนการหนึ่งที่ต้องทำ คือ ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมให้จบสิ้น คุณชี้ได้ว่าเขาไม่ผิด ชี้ได้ยังไง ถ้าคนส่วนหนึ่งคิดว่าเขาผิด ก็ดำเนินคดี แล้วถ้าศาลยกฟ้องก็จบ ขณะนี้มีแต่คนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนบอกว่านั่น น่ะผิด อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าฉันไม่ผิด ส่วนจะผิดไม่ผิดต้องดำเนินคดี ดำเนินคดีในความหมายว่ามีการฟ้องเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นคดี ดังนั้น การหนีคดี การเลี่ยงไม่ดำเนินคดี การปกปิดไม่ดำเนินคดี มันมีปัญหาต่อการปรองดองทั้งสิ้น อดีตนายกฯ ถ้าถูกกล่าวหา แล้วการถูกกล่าวหาเป็นกฎหมายอาญา นำคดีสู่ศาล สู้กันที่ศาล ถ้าศาลบอกไม่ผิด ยกฟ้อง เป็นอันจบ แล้วกรณีนั้นให้ถือว่า...จริง ๆ มันคือบทเรียนของการเริ่มต้นของการรับอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ตัว ไม่เช่นนั้นจะมีศาลไว้ทำไม - แต่ระหว่างทางมีการสู้โดยใช้กฎหมายทุกวรรคตอน การต่อสู้มันจะนำไปสู่อะไร มันเป็นสงครามจิตวิทยา มันธรรมดามากของการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดของทุกฝ่าย ใครก็ตามที่อยู่ในสภาพนั้นก็ต้องดิ้นรน แล้ววิธีการจะบอกว่า ฉันไม่ผิด แต่คนส่วนใหญ่ยังบอกว่าฉันผิดอยู่ ฉันก็ต้องบอกว่าที่กล่าวหาฉันไม่ถูก ธรรมดามาก ดังนั้น คำตอบองค์กรที่จะทำหน้าที่ตัดสินคือศาล ไปศาล (เน้นเสียง) หยุดพูดเลย ไปศาล แล้วจบคดี - ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ปกติ แต่ที่ไม่ปกติเพราะรัฐบาลทำถูกทางที่จะดำเนินคดี ใช่ แล้วต้องทำทุกกรณีให้ถูกต้อง ดังนั้น ต้องไม่เว้นว่าพรรคใด เพราะคนที่มาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ขณะนี้ไม่มีพรรค เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ทำคุณก็ต้องดำเนินการ ถ้าคุณผิด ศาลก็ชี้ว่าคุณผิด แต่ถ้าไม่ผิด ศาลบอกไม่ผิดก็จบ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า...ตรง ๆ นะ รัฏฐาธิปัตย์ต้องไม่เป๋เอง แล้วถ้ารัฏฐาธิปัตย์มีแผลล่ะ แย่สิ พังนะ รัฏฐาธิปัตย์ในความหมาย นี้ไม่ใช่คน คนเดียว แต่หมายถึงผู้ที่ร่วมงาน เมื่อไหร่ก็ตามในกระบวนการปรองดองที่ค่อย ๆ ดีขึ้น ถ้ามันมีอะไรสักอย่างมันบ่งชี้ว่าผู้ร่วมงานของรัฏฐาธิปัตย์เองก็มีตำหนิ เรื่องปรองดอง ผมว่าจบเลยนะ เพราะอำนาจหรือสถานะของรัฏฐาธิปัตย์ก็จะเปลี่ยนไป ศรัทธาจะลดลง เมื่อศรัทธาลดลงจะไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการปรองดองได้อีก ข้อนี้ต้องระวังให้มาก ผมยังไม่ค่อยสบายใจเรื่องนี้ คนที่จะเข้ามาประคองทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการปรองดอง แล้วนำทั้งหมดขึ้นสู่ศาล มันต้องนิ่งและสะอาด เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเกิดระแวงสงสัยว่าไม่สะอาดต้องรีบพิสูจน์ตัวเองให้เขา เห็นว่าสะอาด แต่ถ้าอึมครึมแล้วไม่พูดลำบากนะครับ - คิดว่า คสช.สะอาดพอที่จะถือธงปรองดองหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ว่า คสช.ประกอบด้วยใครบ้าง มันเป็นนามธรรมของคณะบุคคล แต่ช่วงนี้ต้องระวังต้องไม่มีตำหนิ ต้องสะอาด เพื่อประคองคดีทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เห็นว่านายไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วต้องเสมอหน้า ขณะนี้มาได้ดีมาก ดีมาก ๆ แล้วต้องประคองต่อให้ได้ เพราะคดีมันอีกเยอะมาก - เมื่อ คสช.ประกอบด้วยคนหลายระดับ จะมั่นใจอย่างไรว่าจะไม่มีตำหนิ นั่นสิ นั่นสิ คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถ้าคนพิสูจน์แล้วชี้ได้ว่าไม่ยุติธรรมเสียเองแล้ว มันจะไปสร้างกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร น่าห่วงตรงนั้น - ฝ่ายรัฏฐาธิปัตย์ กับฝ่ายการเมือง เล่นสงครามจิตวิทยา สู้กันอย่างเข้มข้น จะปรองดองกันได้อย่างไร ตอบไม่ได้ ผมก็จนปัญญา คิดว่าเมื่อตอนทำสภาปฏิรูปมันแสนจะไม่เป็นการเมือง แสนจะเป็นตัวทำให้ประเทศชาติดีขึ้น แต่ผลที่ออกมามันกลายเป็นการเมือง ผมก็ได้แต่รำพึงรำพันว่าเป็นการเมืองไปแล้ว พอเป็นการเมืองผมคิดว่าผมไม่ใช่เป็นคนที่มีธรรมชาติอยู่กับการเมืองแน่ ๆ ยอมแพ้ - คิดว่าคู่ขัดแย้งในขณะนี้คือใคร ใช่พรรคเพื่อไทยกับรัฐบาลหรือไม่ ยังคิดและเข้าใจว่าขณะนี้ไม่ใช่เพื่อไทย มันแตกส่วนไปมากกว่านั้น เพราะประการแรก พรรคเพื่อไทยวันนี้ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถ้าเอาอุดมคติหรืออุดมการณ์พรรคการเมืองเป็นตัวตั้ง จะมีคนจำนวนหนึ่ง ที่มีอุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทยแท้ ๆ ที่เหลือเกาะกระแส พอถึงเวลาที่รื้อกระดานใหม่มันอาจไม่เหมือนเดิม และตัวสมาชิกพรรค นักการเมืองที่ทำงานในพรรค เจ้าของพรรคมันเริ่มมีสัดส่วนของตัวมันเองต่างกันมากขึ้น ฝ่ายนายทุน เจ้าของพรรค เริ่มเข้าใจแล้วว่าไม่สามารถซื้อบางอย่างได้ คนจะออกมาตะโกนพูดปาว ๆ ยกทฤษฎี 500 อย่าง ว่่านายกูถูกมันเหลือไม่กี่คน วันนี้เงียบ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เห็นด้วย เขาเห็นด้วย แต่เริ่มสุขุมขึ้น และรู้ว่าในยามใด ควรเดินอย่างไร การนัดแต่งแดงในวันที่ 1 พ.ย. มันทำให้เราเห็นเลยว่ามันเป็นส่วนต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น ในกลุ่มแกนนำที่เรียกว่า นปช.ก็ไม่ใช่กลุ่มเดียว มันมีหลายกลุ่ม ในกลุ่มที่เรียกว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่กลุ่มเดียว มันมีหลายกลุ่ม - คู่ขัดแย้งของ คสช.คือกลุ่มไหนที่อาจารย์พอมองเห็น ทั้งหมดนั่นแหละ เขายังเคลมว่าเป็นศัตรูกันอยู่ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีปัญหาขึ้นใหม่ แม้ว่าเขาจะไม่รักกันเลย (เน้นเสียง) แต่ร่วมกันตีก็เป็นไปได้ และตัวสำคัญตัวนั้นคือไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะถ้าทุกคนได้รับความเป็นธรรมแล้ว โอกาสจะ Organize ความแตกแยกจะลำบากมาก - ฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม คสช.ยังใช้คำว่า "ไม่ได้รับความเป็นธรรม" ยังได้อยู่ไหม ได้สิ เพราะบางกรณียังอืดอาดอยู่เลย ยังไม่ไปถึงไหน มันไม่ใช่เรื่องคดีการเมืองเท่านั้นนะที่มันสมทบมาเรื่องนี้ เรื่องของสิ่งแวดล้อมคนก็ยังโวยวาย เพราะตัวเหล่านี้มันสร้างทั้งแผลเก่าและแผลที่เปิดใหม่ คดีการเมืองที่เขามาเดินขบวนแล้วได้ผลกระทบไป ครม.มีมติจ่ายค่าเยียวยาไปแล้ว แต่เขายังไม่ได้เลยนี่ต้องมาดู (ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์) ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ www.facebook.com/PrachachatOnline ทวิตเตอร์ @prachachat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น