วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559
04.01.2559 นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อีกเมื่อไร (2)
(มติชนรายวัน 4 ม.ค.2559)
ความชอบธรรมอีกอย่างหนึ่งที่เผด็จการสฤษดิ์ใช้เพื่อผดุงระบอบทหารของตนก็คือ การสร้างความเป็นไทย
ความเป็นไทยถูกชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นิยามขึ้น เพื่อกีดกันคนที่ตนไม่ไว้วางใจให้เข้าไม่ถึงอำนาจทางการเมือง การปฏิวัติ 2475 ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งสามารถเข้ามาช่วงชิงการนิยามความเป็นไทย แต่ก็เพื่อกีดกันคนที่ตนไม่ไว้วางใจให้เข้าไม่ถึงอำนาจทางการเมืองเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจในนิยามใหม่ของนักปฏิวัติเหล่านี้ก็คือ ความเป็นไทยไม่เป็นอริกับความทันสมัยทางการเมืองและสังคม แม้แต่นักปฏิวัติที่โน้มเอียงไปทางเผด็จการเบ็ดเสร็จเช่นจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของพลเมือง เขาส่งเสริมภาษาไทยที่แสดงความห่างทางช่วงชั้นน้อยลง เครื่องแต่งกายที่เขาส่งเสริม คือเครื่องแต่งกายไทยที่เหมาะกับคนทุกชั้น ไม่ว่าจะเป็นหญิงชาววังอย่างแม่พลอย หรือยายเมี้ยน แม่ค้าปากปลาร้าในตลาด
จะพูดว่าความเป็นไทยของนักปฏิวัติ 2475 มีนัยยะเป็นอริกับความเป็นไทยของระบอบเก่าอยู่อย่างสำคัญก็ได้
และความเป็นไทยอย่างนี้แหละที่สฤษดิ์โฆษณาว่าเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยที่เผด็จการทหารเห็นว่า "ไม่ไทย" ที่สุด ระบอบของเขานิยามความเป็นไทยให้กลับไปใกล้เคียงกับนิยามของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคือยืนยันอำนาจทางวัฒนธรรมตามประเพณี นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์, "ผู้ใหญ่" ทั้งหลายซึ่งมีผู้ปกครองอยู่สูงสุด ไล่ลงมาจนถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์และผู้สูงวัย
และด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นจึงเป็นความสัมพันธ์ในอุดมคติของความเป็นไทย (ที่เรียกว่ามารยาทไทย คือกิริยาวาจาที่เคารพสถานภาพของช่วงชั้นอย่างเคร่งครัด) โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่จุดสุดยอดของพีระมิด เรียงลำดับลงมาจนถึงฐานล่าง ประเพณีการหมอบคลานถูกฟื้นฟูกลับมาใหม่ ไม่ใช่กิริยามารยาทต่อพระมหากษัตริย์แต่อย่างเดียว หากรวม "ผู้ใหญ่" ทั้งหมดด้วย เพราะเป็นภาษากายที่แสดงการยอมรับช่วงชั้นของความเป็นไทยได้ชัดเจนที่สุด
ความสำเร็จของสฤษดิ์ในด้านนี้มีสูงมาก ความเป็นไทยตามนิยามของระบอบเก่าดูเหมือนจะช่วงชิงนิยามอื่นๆ ไปได้หมด แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนั้น ก็ไม่กล้าท้าทายนิยามความเป็นไทยของระบอบเก่าเช่นนี้อีกเลย แต่ความสำเร็จของสฤษดิ์เกิดขึ้นในช่วงที่สังคมไทยยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากระบอบเก่ามากนัก ส่วนใหญ่ของประชากรยังอยู่ในภาคเกษตร ซ้ำเป็นเกษตรเลี้ยงตนเองเป็นหลัก (คือทำไว้กินก่อนขาย) นโยบายพัฒนาของสฤษดิ์เริ่มเปลี่ยนสังคมไทยในอัตราที่เร่งขึ้นทุกขณะ แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ระบบการผลิตในทางเศรษฐกิจเท่านั้น ในขณะที่รัฐบาลเผด็จการพยายามควบคุมให้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไม่กระทบต่อมิติอื่นๆ เลย ความมุ่งหมายเช่นนี้ไม่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
ตกมาถึง 2557 ความเป็นไทยตามนิยามเช่นนี้ คือเน้นความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น (ดังค่านิยม 12 ประการ) จะเหลือความหมายอะไรในสังคมไทย ที่ได้ประสบความเปลี่ยนแปลงทั้งกว้างและลึกในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สถาบันอาญาสิทธิ์ตามประเพณีถูกตั้งคำถามไปหมด ไม่ใช่เพราะลูกสมัยนี้ไม่กตัญญูรู้คุณบิดามารดา แต่ต่างฝ่ายต่างมีจินตนาการถึงความมั่นคงในชีวิตคนละชุดกันโดยสิ้นเชิง ลูกจึงไม่อยากเรียนสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เรียน ไม่อยากทำงานอย่างที่พ่อแม่อยากให้ทำ ไม่อยากแต่งงานกับคู่ที่พ่อแม่คิดว่าเหมาะสม อยากและไม่อยากขัดกันอีกมากตลอดชีวิต ความเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในสังคมไทยสมัยปัจจุบันต้องมีความหมายใหม่ที่แตกต่างจากความเป็นไทยแบบเดิมเสียแล้ว
ผมจึงไม่คิดว่าอุดมการณ์ความเป็นไทยที่ คสช.รับต่อมาจากเผด็จการทหารในอดีต จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ คสช.ได้เท่ากับสฤษดิ์ หรือแม้แต่ธานินทร์, เปรม หรือสุจินดา ด้วยซ้ำ แม้แต่ผู้นำ กปปส.ยังต้องเปลี่ยนนามสกุล ความเป็นไทยแบบสฤษดิ์หรือค่านิยม 12 ประการ จะมีนัยสำคัญอะไรแก่คนรุ่นปัจจุบัน
นายทุนไทยในต้นพุทธศตวรรษที่ 26 ได้รับความพอใจจากสฤษดิ์ไม่ยากนัก พวกเขาผลักดันการเปิดเสรีด้านการลงทุนในหมู่พวกเขามาก่อนการยึดอำนาจของสฤษดิ์แล้ว พวกเขาไม่รังเกียจที่จะแบ่งผลกำไรให้แก่นายทหารและตำรวจซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ธุรกิจของเขา ในช่วงนั้นนายทุนไทยยังเล็ก ทั้งสินทรัพย์ที่เป็นทุนของเขาและเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับสังคม
ดังนั้นนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ซึ่งเปิดเสรีการลงทุน ร่วมทุนกับต่างชาติ และขายบริการให้ความคุ้มครองไปพร้อมกัน จึงทำความพอใจแก่นายทุนไทยได้อย่างรวดเร็ว แต่ใน 2557 ทุนไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับคนชั้นกลางจำนวนมาก ซึ่งเป็นพนักงานหรือคู่ค้าของตน สิ่งที่นายทุนต้องการจากนโยบายของรัฐมีความหลากหลาย และหลายกรณีก็ขัดแย้งกันเอง เพราะผลประโยชน์ของทุนมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างที่เคยเสียแล้ว คณะรัฐประหารจะหาความนิยมจากกลุ่มทุนไม่ได้ง่ายอย่างสมัยสฤษดิ์ เราจึงไม่ได้เห็นความพร้อมเพรียงของกลุ่มทุนในการลุกขึ้นมาสนับสนุน คสช.
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ความสงบเรียบร้อยที่คสช.นำมาให้ ไม่เป็นแรงจูงใจให้พวกเขาหันมาลงทุนอย่างคึกคัก เพื่อดึงเศรษฐกิจที่ชะงักงันให้ขยับขับเคลื่อนบ้าง เศรษฐกิจไทยผูกติดกับเศรษฐกิจโลกเสียจนกระทั่ง บรรยากาศภายในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่เป็นปัจจัยให้นายทุนขยายการลงทุนของตนเอง
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ความสงบเรียบร้อยที่ คสช.สถาปนาขึ้นก็เปราะบางอย่างเห็นได้ชัด มาตรการเข้มงวดและเฉียบขาดที่หัวหน้า คสช.ใช้ในการปราบและปรามผู้กระด้างกระเดื่อง ไม่บังเกิดผล เพราะการต่อต้านรัฐประหารของคนชั้นกลางก็ยังดำเนินต่อไป คึกคักขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วย ในที่สุดจะนำไปสู่อะไรก็ไม่มีใครคาดเดาได้ แต่ไม่ใช่ความสงบเรียบร้อยอย่างแน่นอน เปรียบเทียบสมัยสฤษดิ์แล้วห่างกันไกล แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะสฤษดิ์ใช้การปราบปรามอย่างเด็ดขาดเหี้ยมโหดกว่า คสช. แต่เพราะหัวหอกการต่อต้านสฤษดิ์คือเครือข่ายของศัตรูสฤษดิ์เอง ได้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ และเครือข่ายของเผ่า ศรียานนท์ แต่กลุ่มคนที่เป็นปัญหาแก่ คสช.ในครั้งนี้ไม่ใช่เสื้อแดง เป็นคนที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างทักษิณและชนชั้นนำ เป็นคนชั้นกลางที่มีการศึกษาระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ต่อต้าน คสช.เพราะเป็นศัตรูทางการเมือง แต่เพราะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เหตุการณ์ละม้ายกับความเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ก็ลองคิดดูว่าหากสฤษดิ์ยึดอำนาจใน 2501 ได้แล้ว ก็ต้องมาเผชิญกับความเคลื่อนไหวแบบหลัง 2510 เป็นต้นมาทันที สฤษดิ์จะครองอำนาจได้ยั่งยืนอย่างนั้นหรือ
ใน 2501 เมืองไทยยังไม่มี "นักวิชาการ" อีกทั้งจำนวนเทคโนแครตในระบบราชการก็ยังน้อย สฤษดิ์เปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้กว้างกว่าคนกลุ่มอื่น ตราบเท่าที่พวกเขาไม่ถึงกับรวบรวมสมัครพรรคพวกออกมาต่อต้านระบอบสฤษดิ์ บางครั้งก็ดึงนักวิชาการเข้าสู่ระบบราชการฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ ทำให้คนเหล่านี้ได้สัมผัสอำนาจและงบประมาณจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมาก่อน และกลายเป็นพันธมิตรของเผด็จการทหารสืบต่อมาอีกนาน
ในเวลาเพียงปีสองปี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็สร้างพันธมิตรรายล้อมระบอบของตนจากคนหลายจำพวกภายในประเทศ ในส่วนต่างประเทศ สฤษดิ์เป็นสมุนชั้นดีของสหรัฐซึ่งเป็นพี่ใหญ่ในค่ายที่เรียกกันว่าเสรีประชาธิปไตยในสงครามเย็น ดังนั้นจึงทำให้ไทยได้ประเทศในค่ายนี้ไว้เป็นพันธมิตรทั้งหมด ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศมากขึ้น
และที่สำคัญคือ ในระยะยาวเงินลงทุนก็ตามมาร่วมทุนกับนายทุนไทย ซึ่งต้องการทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีจากตะวันตก โดยเฉพาะเมื่อสฤษดิ์สามารถพิสูจน์ได้ว่า ระบอบเผด็จการทหารของตนนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองได้อย่างมั่นคงแน่นอน
ใน 2557 เมืองไทยเต็มไปด้วยนักวิชาการและเทคโนแครต ในแง่หนึ่งก็นับว่าง่ายแก่คณะรัฐประหารในการสร้างพันธมิตรกับนักวิชาการ อย่างน้อยส่วนหนึ่งของนักวิชาการก็เข้าร่วมกับ คสช.มาแต่ต้นแต่ในอีกแง่หนึ่ง นักวิชาการใน พ.ศ.นี้ไม่มีบารมีเหมือนในต้นทศวรรษ 2500 แล้ว การมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งสนับสนุนการรัฐประหาร จึงไม่ได้ทำให้ คสช.มีความชอบธรรมมากขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับสฤษดิ์ คสช.ไม่สามารถควบคุมพื้นที่สาธารณะซึ่งนักวิชาการฝ่ายที่ต่อต้านการรัฐประหารแย่งชิงมาได้ เพราะการสื่อสารออนไลน์เปิดพื้นที่สาธารณะให้กว้างขวางขึ้น จนรัฐไม่อาจตามไปคุมได้หมด ในขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศก็เปลี่ยนไปแล้ว คสช.จึงไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาและเพิ่มพูนพันธมิตรของตนทั้งในและต่างประเทศได้เหมือนสฤษดิ์ แม้ไม่มีพรรคการเมืองที่ต่อสู้กับ คสช.ด้วยกำลังอาวุธอย่าง พคท. แต่ทุกคนก็มองออกว่าประเทศไทยภายใต้ คสช.ขาเสถียรภาพทางการเมืองอย่างยิ่ง ความเป็นมิตรกับ คสช. จึงไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด รอดูอนาคตไปก่อนก็ได้
สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการคุมอำนาจเหมือนกัน แต่ความกลัวนั้นเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ซึ่งหากใช้อย่างพร่ำเพรื่อและสืบเนื่องยาวนาน ผู้คนก็จะเคยชินกับความกลัวจนความรู้สึกกลัวหายไป สฤษดิ์จึงใช้เครื่องมือทำให้เกิดความกลัวอย่างจำกัด ใช้เมื่อตนจะได้รับความสนับสนุนอย่างแน่นอน เช่น ประหารชีวิตผู้วางเพลิงซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนมานาน ส่วนผู้วางเพลิงจะเป็นผู้วางเพลิงจริงหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ ผู้คนยอมรับมาตรการจนไม่สนใจกระบวนการ หากจำเป็นต้องใช้ความกลัวที่ไม่แน่ใจว่าจะได้รับการยอมรับจากสังคม สฤษดิ์เลือกมาตรการจำกัด คือกระทำโดยไม่แพร่งพรายให้รู้กว้างขวาง แต่รู้กันอยู่ในพื้นที่เท่านั้น
ทั้งหมดนี้แตกต่างจากที่ คสช.ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการคุมอำนาจ เพราะ คสช.ใช้พร่ำเพรื่อ ใช้บ่อย ใช้มานาน จนผู้คนเคยชินกับความรู้สึกกลัวจนเฉยๆ กันไป สักวันหนึ่งจะมีคน "ก้าวพ้นความกลัว" เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ สถานการณ์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศบังคับให้ คสช.ไม่อาจยกระดับความกลัวให้รุนแรง สะเทือนขวัญได้มากไปกว่านี้อีกมากนัก จะมีเครื่องมืออะไรในการกำราบให้กลัวเหลืออยู่อีกแก่ คสช.
โดยไม่ได้รู้สึกชื่นชมยกย่องสฤษดิ์ ธนะรัชต์แต่อย่างใด ผมต้องยอมรับว่าสฤษดิ์สามารถสร้างรัฐที่เข้มแข็งขึ้นมาได้ ความเปลี่ยนแปลงในหลายต่อหลายด้านที่รัฐทหารของสฤษดิ์นำมาสู่ประเทศไทย เกิดขึ้นไม่ได้หากมีรัฐที่อ่อนแอ หลังรัฐประหาร 2490 อำนาจรัฐแตกออกเป็นหลายขั้ว จนกระทั่งตลอดหนึ่งทศวรรษต่อมารัฐไทยภายใต้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นรัฐที่อ่อนแอ นำความเปลี่ยนแปลงจริงจังอะไรมาสู่ประเทศไม่ได้ ลองเปรียบเทียบกับประเทศไทยภายใต้รัฐบาลจอมพลคนเดียวกันนี้ระหว่าง 2481-2487 เราจะชอบหรือไม่ชอบจอมพล ป.ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ท่ามกลางข้อจำกัดของการเมืองระหว่างประเทศ (สงครามมหาเอเชียบูรพา) จอมพล ป.ได้นำความเปลี่ยนแปลงที่กว้างใหญ่ไพศาลมาสู่ประเทศไทย แต่นั่นไม่ใช่จอมพล ป.คนเดียวที่กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯอีกครั้งหนึ่งหลังรัฐประหาร 2490
10 ปีของการเป็นรัฐอ่อนแอ ทำให้สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้รับการต้อนรับจากผู้คนอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยไทยกลับมาเป็นรัฐเข้มแข็งที่สามารถทำโน่นทำนี่ (ซึ่งบางครั้งเราไม่ชอบ) ได้อีกครั้ง
รัฐเข้มแข็งไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยและไม่จำเป็นต้องเป็นเผด็จการ แต่เป็นรัฐที่ริเริ่มทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ได้จริง (แม้อาจมีเสียงก่นด่ากันให้ขรมก็ตาม) ทักษิณ ชินวัตร ทำอะไรถูกหรือผิดก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือผู้นำไทยอีกคนหนึ่งที่ทำให้รัฐไทยเข้มแข็งขึ้น หลังจากตกอยู่ในสภาพอ่อนแอสืบเนื่องมาหลายรัฐบาล ต้องไม่ลืมว่าผลอย่างหนึ่งของรัฐเข้มแข็งคือ อำนาจที่กระจัดกระจายของรัฐถูกทำให้อ่อนลง เพราะถูกผนวกเข้ามาไว้กับรัฐมากขึ้น ผู้นำที่ทำให้รัฐเข้มแข็งจึงมีแนวโน้มจะเพาะศัตรูกับคนที่เคยถือส่วนแบ่งของอำนาจรัฐมาก่อน สฤษดิ์เลือกสร้างพันธมิตรกับอำนาจเดิมหรือกลุ่มที่มีศักยภาพจะมีอำนาจ ในขณะที่ทักษิณเลือกสร้างพันธมิตรกับกลุ่มที่ไม่เคยมีอำนาจมาก่อนเลย เพราะไปเชื่อว่าคะแนนเสียงคืออำนาจ แต่คะแนนเสียงไม่เคยเป็นอำนาจในสังคมไทย
คสช.ประกาศตนเป็นศัตรูกับคนที่เคยสร้างรัฐเข้มแข็ง แปลว่า คสช.ต้องการสร้างพันธมิตรกับกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งพอใจจะให้อำนาจรัฐกระจัดกระจาย แบ่งกันถือส่วนต่างๆ ที่มักไม่ค่อยประสานเข้าหากัน สฤษดิ์สถาปนาตนเองขึ้นเป็นศูนย์กลางของอำนาจกระจัดกระจายนี้ได้สำเร็จ บังคับควบคุมให้เกิดการประสานกันจนทำงานบรรลุภารกิจที่สฤษดิ์มอบหมายได้ คสช.สถาปนาตนเองขึ้นเป็นศูนย์กลางของอำนาจรัฐที่กระจัดกระจายได้หรือไม่
ผมคิดว่าคำตอบดูได้ที่หน่วยต่างๆ ซึ่งแบ่งกันถืออำนาจรัฐนั้น ประสานกันได้ลงตัวดีหรือไม่ ดูใน ครม., ในกองทัพ, ในการทำงานของกระทรวงทบวงกรม, ในสื่อ, ในมหาวิทยาลัย, ในวงการตุลาการ, ในองค์กรมหาชนด้านสาธารณสุข, ในกลุ่มเอนจีโอซึ่งสนับสนุนการรัฐประหารมาแต่ต้น ฯลฯ ไม่มีเนื้อที่สำหรับยกความไม่ประสานกันขององค์กรเหล่านี้ และทุกท่านก็ทราบข่าวความไม่ลงรอยกันอยู่แล้ว
ผมจึงสรุปได้ว่า คสช.ไม่อาจทำให้อำนาจรัฐที่กระจัดกระจายกันอยู่ประสานกันได้ลงตัว และด้วยเหตุดังนั้น รัฐภายใต้ คสช.จึงไม่ใช่รัฐที่เข้มแข็ง เกือบไม่ต่างอะไรจากรัฐไทยภายใต้พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในสมัยคุณชวน หลีกภัย และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
(ยังมีต่อ)
ยังมี...อีกเมื่อไร (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น