วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559
12.01.2559 นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อีกเมื่อไร (3)
(ที่มา:มติชนรายวัน 11 ม.ค.2559)
ก่อนที่เราจะหันมาดูว่า เผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ล้มลงในกลางทศวรรษ 2510 ท่ามกลางเงื่อนไขปัจจัยอะไรบ้าง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่สองสามอย่างในปัจจุบันที่เราควรระลึกไว้
ประการแรก สฤษดิ์ประสบความสำเร็จในการกีดกันมิให้ปรปักษ์จัดองค์กรได้ ยกเว้น พคท. ซึ่งต้องจัดองค์กรใต้ดินในเมืองหรือในป่าเท่านั้น ความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งมาจากธรรมนูญการปกครองที่ไม่ประกันสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของพลเมือง ฉะนั้น เผด็จการทหารจึงอาจตัดไฟแต่ต้นลมได้เสมอ แรงสนับสนุนสฤษดิ์ในสังคมวงกว้างทำให้การละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ไม่กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ดึงผู้คนเข้าไปสนับสนุนศัตรู เอาทหารไปทุบแท่นพิมพ์เพื่อไม่ให้มีหนังสือพิมพ์ต่อต้านอีก ทำแล้วสังคมก็เงียบไม่ว่าอะไร
คสช.ประสบความสำเร็จในการป้องกันมิให้ฝ่ายปรปักษ์จัดองค์กรขนาดใหญ่เช่นกัน อย่างน้อยก็ทำให้พรรคการเมืองประชุมไม่ได้ และเคลื่อนไหวทำกิจกรรมไม่ได้ ซึ่งเท่ากับสยบเสื้อแดงสายพรรคเพื่อไทยไปพร้อมกัน แต่พรรคเพื่อไทยไม่ใช่ พคท. และเสื้อแดงก็ไม่ใช่พลพรรคของ พคท. จึงไม่ใช่พรรคใต้ดิน ถึงทำอะไรใต้ คสช.ไม่ได้สักอย่าง แต่พวกเขาก็ยังอยู่บนดินตรงนั้น และคงพร้อมจะเคลื่อนไหวในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยเมื่อแกนนำเรียกร้อง
แต่ขบวนการเสื้อแดงในสายของพรรคเพื่อไทย เป็นองค์กรที่แม้ยุทธวิธีทางทหารสกัดได้ แต่ยุทธวิธีทางทหารไม่สามารถสลายได้ และได้สกัดจนอยู่หมัดไปให้เห็นสามครั้งแล้ว (2552, 2553, 2557) เพียงแต่ว่าหากจำเป็นต้องสกัดอีกในอนาคต กระแสสากลในช่วงนั้นจะอนุญาตให้ทำได้อีกหรือไม่
ดังนั้น ความสำเร็จของ คสช.ในการป้องกันการจัดองค์กรของฝ่ายตรงข้าม จึงไม่สำเร็จเด็ดขาดเท่ากับสฤษดิ์
แต่ที่สำคัญกว่าสำเร็จแค่ไหนก็คือ ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ (เทคโนโลยี, สังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม) ที่เกิดในระยะหลัง ทำให้ "องค์กร" ที่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับใหญ่ จนเป็นผลให้เผด็จการทหารของโลกหลายแห่งล่มสลายลง ไม่ได้มีลักษณะปึกแผ่นแน่นหนาเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์เสียแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถ "จัดองค์กร" กันได้ในเวลาอันสั้นอย่างรวดเร็ว หากประเด็นขับเคลื่อนเป็นสิ่งที่อยู่ในใจคนจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น อาหรับสปริง หรือการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า #Occupy เป็นต้น จริงอยู่การเคลื่อนไหวใหญ่เหล่านี้มักไม่สามารถสร้างระบบใหม่ขึ้นแทนเผด็จการทหารในระยะยาวได้ แต่ทำให้เผด็จการทหารที่ครองอำนาจอยู่เละได้ อันที่จริงขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ "จัดองค์กร" กันในระยะสั้นมาก (แม้มีปูมหลังของการเคลื่อนไหวทางสติปัญญามาอย่างยาวนานในสังคมก็ตาม)
ระบอบสฤษดิ์ไม่ต้องเผชิญกับ "องค์กร" และ "การจัดองค์กร" ในลักษณะนี้จนถึงทศวรรษ 2510 ในขณะที่ คสช.ต้องเผชิญมาตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจได้ แม้ว่า คสช.อาจควบคุมมิให้การจัดองค์กรและแต่ละองค์กรขยายตัวขึ้น แต่ก็ไม่สามารถขจัดกวาดล้างไปได้ ซ้ำอำนาจควบคุมของ คสช.ดูจะลดลงเสียด้วย เช่น เมื่อมีแรงกดดันจากฝูงชนจำนวนมาก ตำรวจก็ไม่ตั้งข้อหา จึงเกิดการจัดองค์กรและองค์กรเล็กๆ เช่นนี้เพิ่มมากขึ้นตลอดมา ทำกิจกรรมที่ดูแสนจะปกติธรรมดาและไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อ คสช.อย่างไร (เช่นเดิน) แต่ คสช.จะปล่อยไปก็ไม่ได้ ครั้นไม่ปล่อย ก็กลับทำให้ คสช.ดูเป็นอำนาจที่ขาดความชอบธรรมมากขึ้น เราไม่มีทางจะรู้ได้ว่าองค์กรเล็กๆ เหล่านี้จะกลายเป็นแกนกลางขององค์กรขนาดใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยหรือไม่อย่างไร
และนั่นดูจะน่ากลัวแก่ คสช.เสียยิ่งกว่าแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงในสายพรรคเพื่อไทยเป็นอันมาก เพราะเมื่อถึงที่สุดของที่สุด กลุ่มนี้ต่างหากที่ "เกี้ยเซี้ย" ได้ยาก
ประการที่สอง คือความเปลี่ยนแปลงของการทำรัฐประหารโดยกองทัพ ว่ากันที่จริงกองทัพเคยทำรัฐประหารด้วยตนเองล้วนๆ เพียงสองครั้งในประวัติศาสตร์ คือการรัฐประหาร 2490 และ 2494 (หากถือว่าสองครั้งนี้สืบเนื่องกัน) และ 2520 ส่วนการยึดอำนาจปกครองใน 2475 เป็นการกระทำของทหารบางส่วนในกองทัพร่วมมือกับพลเรือนอีกหลายกลุ่ม รัฐประหารที่ล้มเหลวในกบฏบวรเดชก็เป็นการกระทำของทหารบางส่วนในกองทัพเช่นกัน หลังจากนั้นมาการรัฐประหารทุกครั้งจนถึง 2534 กองทัพอาจเป็นกำลังสำคัญที่สุด แต่ไม่ได้ทำเองโดยลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรทางการเมืองเสมอ ที่สำคัญก็คืออำนาจตามประเพณีกับกลุ่มอนุรักษนิยม และกลุ่มทุนบางส่วน
แม้กระนั้น พันธมิตรของกองทัพในการทำรัฐประหารก็ประกอบด้วยบุคคลจำนวนไม่มากนัก อยู่ในแวดวงที่พอจะเจรจาต่อรองกันได้ อย่างน้อยคนเหล่านี้ก็เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดีกับผู้นำกองทัพอยู่แล้ว
แต่การรัฐประหารใน พ.ศ.2549 และ 2557 กองทัพจำเป็นต้องขยายพันธมิตรออกไปสู่คนชั้นกลางในเมือง ซึ่งมีแกนนำที่เชี่ยวชาญในการจัดการฝูงชนเป็นคนกลางในการเชื่อมต่อกับกองทัพ บทบาทในการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แสวงหาแนวร่วมในเขตเมืองให้ขยายเป็นวงกว้าง ตลอดจนทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่อาจบริหารงานได้ ล้วนเป็นภาระของพันธมิตรมวลชน และการกระทำเหล่านี้มีความจำเป็นเสียยิ่งกว่ายกกำลังออกมายึดอำนาจในวันที่กองทัพทำรัฐประหารเสียอีก
เมื่อการเมืองมีลักษณะมวลชนมากขึ้น การรัฐประหารของกองทัพก็ต้องมีลักษณะมวลชนมากขึ้นเหมือนกัน
จอมพล ป., สฤษดิ์, ถนอม, สุจินดา ไม่เคยทำรัฐประหารมวลชน แม้ว่าความเห็นชอบของประชาชนผู้มีเสียงดังในวงกว้างมีความจำเป็นเหมือนกันก็ตาม กองทัพจัดการกับรัฐประหารมวลชนได้ยาก ทั้งไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนเลยด้วย จึงมักเพลี่ยงพล้ำแก่ปรปักษ์ซึ่งมีประสบการณ์ในการเมืองมวลชนมามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักศึกษา หรือกลุ่มประชาสังคมที่เกิดๆ ดับๆ ได้อยู่ตลอดเวลา
เช่น ถ้าการต่อรองกับสหรัฐกลายเป็นภาระหน้าที่ของพุทธะอิสระ คสช.ก็ซวยแน่ เพราะเพลี่ยงพล้ำแก่สหรัฐและกลุ่มต่อต้านการรัฐประหารอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ คสช.ก็ห้ามปรามพุทธะอิสระไม่ได้ เพราะเป็นฐานมวลชนที่มีอยู่ไม่มากนักของ คสช.ที่ต้องรักษาไว้ นี่คือลักษณะหนึ่งของรัฐประหารมวลชนซึ่งทำให้กองทัพไม่อาจกำกับควบคุม "การเมือง" หลังยึดอำนาจได้แต่ผู้เดียว พุทธะอิสระเป็นหนึ่งในแกนนำมวลชนของ คสช.เท่านั้น ยังมีแกนนำมวลชนอื่นที่อาจสร้างความเพลี่ยงพล้ำแก่รัฐประหารมวลชนได้อีกหลายคน นับตั้งแต่อธิการบดีมหาวิทยาลัย, นักกฎหมายทางทีวี, ผู้บริหารสมาคมสื่อ, ราษฎรอาวุโส, เอ็นจีโอ, นักวิชาการที่สวมเสื้อประเภทต่างๆ อีกหลายคน ฯลฯ แค่คิดถึงก็ปวดกบาลแทน คสช.แล้ว
รัฐประหาร 2549 เป็นตัวอย่างอันดี ดูเหมือนคณะรัฐประหารชุดนั้นตั้งใจมาแต่ต้นว่าจะไม่อยู่นาน จะเป็นเพราะรู้แล้วว่าตนจัดการกับรัฐประหารมวลชนไม่เป็น หรือเพราะไปคิดง่ายๆ ว่าการเมืองมวลชนซึ่งกองทัพและพันธมิตรของกองทัพไม่ชอบ เกิดขึ้นได้เพราะเงื่อนไขทางกฎหมายเอื้อให้เกิด ฉะนั้น เข้ามาแก้กฎหมายเสียใหม่ (ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่สงวนอำนาจของกองทัพและพันธมิตรไว้ไม่ให้ถูกกระทบด้วยการเมืองมวลชน) คืนกลับสู่การเลือกตั้งเมื่อไร ทุกอย่างจะดีเอง ตลอดเวลาอันไม่สู้ยาวนานนักที่คณะรัฐประหารชุดนั้นมีอำนาจอยู่ เพลี่ยงพล้ำตลอด ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือการบริหารงานที่ทุกฝ่ายเห็นว่าเละเทะ จนแม้แต่นายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐประหารเลือกเข้ามายังโดนคดีบุกรุกป่า
ที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ พันธมิตรคนชั้นกลางในเมืองซึ่งเป็นพันธมิตรใหม่ของกองทัพ กลับไม่ได้เป็นหัวหอกในการต่อสู้กับศัตรูของการรัฐประหาร แถมยังซ้ำเติมในบางกรณีด้วย ข้อเรียกร้องของพวกเขาก็มักจะรุนแรงสุดโต่งทางการเมืองเสียจนคณะรัฐประหารรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ทางการเมือง
โจทย์ของรัฐประหาร 2557 คือมรดกความล้มเหลวของรัฐประหาร 2549 ไม่ใช่เพียงแก้กฎหมายที่เอื้อต่อการเมืองมวลชนเท่านั้น ยังจำเป็นต้องวางกลไกในการเมืองและการบริหารในอนาคต ที่จะทำให้อำนาจนอกระบบทั้งหลายถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นอำนาจในระบบให้หมด จัดตั้งองค์กรที่จะให้อำนาจเหล่านี้อยู่ในมือของแกนนำพันธมิตรมวลชนของตน และผมคิดว่าปัญหาของรัฐประหารมวลชนของกองทัพอยู่ตรงนี้แหละ
พันธมิตรมวลชนของกองทัพไม่ใช่กลุ่มที่น่าไว้วางใจนัก ผลประโยชน์ของพวกเขาในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่ได้ผูกพันแนบแน่นกับกองทัพเสมอไป การวางพวกเขาไว้ในกลไกที่จะควบคุมฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ก็เท่ากับเปิดให้เขาหันมาแว้งกัดกองทัพได้ง่ายๆ ในวันหนึ่งข้างหน้า หากผลประโยชน์เฉพาะหน้าของเขาเปลี่ยนไป การ "แปรพักตร์" ในการเมืองไทยซึ่งไม่มีอุดมการณ์ที่แข็งแรงกำกับเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อมวลชนลุกขึ้นสู้คณะรัฐประหารใน 2535 พันธมิตรของกองทัพในการก่อรัฐประหารเมื่อปีก่อนกลับเปลี่ยนโฉมหน้าในทันที ถึงจะอัดนายทหารจากกองทัพมาดำรงตำแหน่งในกลไกเหล่านี้ให้เต็มที่ (เช่นวุฒิสภา) ก็ต้องไม่ลืมว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ผลัดกันยึดกุมกองทัพไว้อย่างเหนียวแน่นจนปีสุดท้ายในอำนาจ
ในขณะที่ยึดกุมตำแหน่งในรัฐบาลไว้พร้อมกัน จึงสามารถจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและกองทัพไว้ในลักษณะที่รัฐบาลสามารถคุมกองทัพได้ตลอดเวลา
แต่คณะรัฐประหารหลังจากนั้นทำอย่างสามคนนั้นไม่ได้ จำเป็นต้องถ่ายโอนตำแหน่งบังคับบัญชาในกองทัพให้แก่ผู้อื่นเมื่อถึงคราวเกษียณ จะวางความไว้เนื้อเชื่อใจไว้ที่รุ่น (5, 7, 10) และหน่วย (ราบ, ม้า, บูรพาพยัคฆ์) ได้จริงละหรือ ถึงวางใจได้ ก็ล้วนเป็นชนวนให้เกิดความไม่พอใจในกองทัพจนเกิดสิ่งที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เรียกว่า "กบฏ(ใน)กองทัพ" ขึ้นได้ (เสนาธิปไตย รัฐประหารกับการเมืองไทย)
เท่าที่ความรู้อันจำกัดของผมมี กองทัพทำรัฐประหารมวลชนเพื่อรักษาสถานะเดิมไม่ได้หรอกครับ กองทัพจะทำรัฐประหารมวลชนได้ก็ต่อเมื่อกองทัพมีจุดมุ่งหมายไปสู่ความเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานหน่อย อย่างน้อยก็น้องๆ การปฏิวัติ เช่น การรัฐประหารของยังเติร์กภายใต้เคมาล อตาเติร์กในตุรกี, การรัฐประหารของนัสเซอร์ในอียิปต์, การรัฐประหารของกองทัพในการปฏิวัติดอกคาร์เนชั่นในโปรตุเกส หรือแม้แต่การรัฐประหาร(กลายๆ)ของซูฮาร์โตใน ค.ศ.1965-6 ก็นำความเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานทีเดียวมาแก่อินโดนีเซีย เช่นเดียวกับการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ.2501 (ซึ่งบังเอิญไม่ใช่รัฐประหารมวลชน แต่ถึงเป็นรัฐประหารมวลชน สฤษดิ์ก็จะไม่ประสบปัญหาอย่างเดียวกับ คสช.)
คสช.ทำรัฐประหารเพื่อดึงประเทศไทยกลับสู่สถานะเดิมเก่าก่อน ตั้งแต่การเมืองมวลชนยังไม่มีในเมืองไทยอย่างแท้จริงเลยไม่ใช่หรือ
ผมเสียหน้ากระดาษเพื่อพูดถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับ "อีกเมื่อไร" โดยตรงไปมากในตอนนี้ แต่คิดว่าจำเป็นในการทำความเข้าใจกับการรัฐประหารที่เรายังต้องใช้ชีวิตร่วมอยู่กับมันต่อไป โดยไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไร
(ยังมีต่อ)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น