วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559
18.01.2559 อีกเมื่อไร (4) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
อีกเมื่อไร (4) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
จาก http://www.matichon.co.th/news/4834
คราวนี้หันมาดูเงื่อนไขปัจจัยด้านต่างๆ ที่ทำให้ระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสล่มสลายลงบ้าง ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญคงจะมีดังนี้
1.ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นเรื่องที่พูดกันมามากแล้ว นับตั้งแต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่สฤษดิ์ได้เริ่มไว้ ผลิดอกออกผลในทางสังคมเป็นการขยายตัวของคนชั้นกลางที่เป็นอิสระจำนวนมาก เป็นอิสระเพราะไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในระบบราชการอย่างที่เคยเป็นมา แต่ทำงานภาคเอกชนหรือธุรกิจของครอบครัวที่ได้รับการปรับปรุงให้ “ทันสมัย” ขึ้น คนเหล่านี้รับข้อมูลข่าวสารหลากหลาย คือรวมข่าวสารที่อยู่นอกการควบคุมของรัฐด้วย จึงมีนโยบายทางสังคมและการเมืองของตนเอง รวมทั้งชื่นชมกับสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมกัน
คล้ายกับคนชั้นกลางหยิบมือเดียวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อนพวกเขา คนเหล่านี้ผ่านการศึกษาในแบบมาระดับหนึ่ง แม้ว่าไม่ใช่ทั้งหมดที่มาจากครอบครัวของคนชั้นสูง แต่ก็มีฐานะเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร จากงานจ้างที่ดูจะมั่นคงและมีแนวโน้มว่าจะให้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาว โลกทรรศน์ของเขาไม่ต่างจากคนชั้นกลางรุ่นก่อนสักเท่าไรนัก เพราะระบบการศึกษาทั้งในแบบและนอกแบบตอกย้ำโลกทรรศน์ไทยที่เน้นความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นอย่างเข้มข้น
นี่คือกลุ่มคนที่เป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองระดับชาติสืบมาจนถึง 2540 ความเห็นชอบของเขามีความสำคัญต่อการบริหารงานสาธารณะระดับชาติ แม้ว่าคะแนนเสียงของเขาในการเลือกตั้งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากก็ตาม ในแง่นี้พวกเขาจึงมีความมั่นคงทางการเมืองไม่ต่างจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
แต่เผด็จการทหารระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ไม่สำนึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าว หรือถึงสำนึกได้ก็ไม่เข้าใจนัยสัมพันธ์ของความเปลี่ยนแปลงนี้พอ
การพัฒนาเศรษฐกิจและผลที่ตามมาในระยะสอง-สามทศวรรษท้ายนี้ยังทำให้เกิดคนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่เข้ามาเป็นผู้ประกอบการในตลาด หรือหากอยู่ในงานจ้างก็เป็นกลุ่มที่มีทักษะบางอย่างที่จำเป็นในกระบวนการผลิต (เช่น เป็นช่างเทคนิค, เป็นฟอร์แมน เป็นต้น) ที่ยังอยู่ในภาคการเกษตรก็มี แต่เป็นการเกษตรที่ค่อนข้างจะเข้าสู่ตลาดเต็มตัว คนเหล่านี้ถูกนักวิชาการเรียกไว้หลายชื่อ เช่น “คนชั้นกลางระดับล่าง”, “ชาวนาที่ตื่นตัวทางการเมือง”, “ชาวชนบทนาคร” ฯลฯ คนเหล่านี้มีจำนวนมากทั้งในเขตเมืองและนอกเขตเมือง แต่คะแนนเสียงในการเลือกตั้งของเขาไม่เคยเป็นกลุ่มก้อนพอจะตัดสินทางการเมืองได้ เพราะที่จริงก่อน 2540 ค่านิยมทางการเมืองของคนชั้นกลางเกิดใหม่กลุ่มนี้ยังถูกแรงดึงจากสองขั้ว ขั้วหนึ่งคือการเข้าสู่เครือข่ายอุปถัมภ์เพื่อเข้าถึงทรัพยากร อันเป็นกลวิธีทางการเมืองที่ใช้กันในชนบทมานาน และขั้วสองคือการรวมกลุ่มของปัจเจกบุคคลเพื่อต่อสู้ในเวทีกลางทางการเมืองอันเป็นกลวิธีทางการเมืองของคนชั้นกลางรุ่นก่อนในเขตเมือง
แต่นับจาก 2544 เป็นต้นมา คะแนนเสียงเลือกตั้งของคนชั้นกลางระดับล่างเอียงมาทางขั้วสอง และขยายตัวขึ้นไปอีกหลังรัฐประหารใน 2549 จนกลายเป็นขบวนการเสื้อแดงสืบมาจนทุกวันนี้
คณะทหาร คสช.ไม่มีสำนึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น หรือถึงสำนึกได้ก็ไม่เข้าใจนัยสัมพันธ์ของความเปลี่ยนแปลงนี้พอ ยังคงคิดว่าขบวนการเสื้อแดงเกิดจากการจัดตั้งเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่ง เพราะการรวมตัวของปัจเจกบุคคลที่ไหนในโลกจะเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการ “จัดตั้ง” เอาเสียเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่การ “จัดตั้ง” เพียงอย่างเดียว ไม่อาจอธิบายขบวนการใดๆ ได้
ผมคิดว่าเช่นเดียวกับเผด็จการทหารสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส คสช.ได้สูญเสียการสนับสนุนของกลุ่มคนที่ตื่นตัวทางการเมืองไปเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะขบวนการนักศึกษาและขบวนการเสื้อแดง แต่มีคนอีกมากที่อยู่ในสื่อ, ในวงวิชาการ, ในบรรดาผู้ค้ารายย่อยทั้งในเขตเมืองและชนบท, ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน, ในกลุ่มเกษตรกรซึ่งต้องผลิตป้อนตลาด ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ร่วมในขบวนการนักศึกษาเมื่อ 2516 และคงไม่ร่วมกับขบวนการเสื้อแดงในการต่อต้าน คสช.ใน พ.ศ.นี้ แต่ล้วนต่อต้านเผด็จการทหารในรูปแบบอื่นๆ มาตรการที่เผด็จการทหารใช้ในการตอบโต้จึงไม่เหลือวิธีอื่น นอกจากการใช้กำลังทหารในกำกับของตนปราบปรามด้วยความรุนแรง
ต้องไม่ลืมด้วยว่า ความรุนแรงนำไปสู่ความปราชัยก็ได้ นำไปสู่ชัยชนะก็ได้ แต่จะเป็นชัยชนะที่เปราะบางมาก
2.ความจำเป็นทางการเมืองบังคับให้ระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ไม่สามารถรักษากำลังของกองทัพบกไว้ในมือได้ตลอดไป ในวันที่ 1 ต.ค. 2516 ผบ.ทบ.คนใหม่คือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา อีก 13 วันต่อมา ส่วนใหญ่ของกองกำลังในกองทัพบกก็ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับราบ 11 ภายใต้ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ในการปราบปรามนิสิตนักศึกษา
ผู้ที่เผด็จการทหารยุคนั้นไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เหลือแคบลงจนไม่เหลือฐานความไว้วางใจอื่นนอกจากเครือญาติ นี่เป็นชะตากรรมของระบอบปกครองที่เผด็จอำนาจไว้กับตัวบุคคลมาตั้งแต่โบราณแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ก็ชี้ให้เห็นว่า ในระบอบเช่นนั้น การแย่งชิงอำนาจกันด้วยกำลังเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
ยิ่งกว่าผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในกองทัพ มีหลักฐานแวดล้อมที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีนายทหารและกำลังรบที่มีลักษณะค่อนข้าง “ส่วนตัว” (เพราะเป็นทหารอาสาที่ไปรบนอกประเทศอย่างปิดลับ) และนายทหารอีกบางส่วนในกองทัพ เข้าร่วมปฏิบัติการเพื่อทำให้สถานการณ์ประท้วงของนักศึกษาตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายลง จนยากจะยุติลงโดยสงบได้
สรุปก็คือ กองทัพบกซึ่งเป็นฐานอำนาจของเผด็จการทหารทั้งหลายนั้น เอาเข้าจริงก็เป็นฐานที่ไม่ได้มั่นคงอะไรนัก จะให้อยู่ในบังคับบัญชาของคนที่ไว้ใจได้ ก็ไม่อาจทำได้ตลอดไป ความจำเป็นทางการเมืองทั้งภายนอกและภายในกองทัพเองบังคับให้ต้องเลือกเพื่อนแทนน้องหรือลูก
ความไว้วางใจนี้ทดแทนด้วยความเป็นปึกแผ่นของรุ่นหรือหน่วยได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ได้ เพราะรุ่นหรือหน่วยไม่เป็นปึกแผ่นจริง ขอให้สังเกตว่า ตั้งแต่ 2550 เป็นต้นมา เกือบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยน ผบ.ทบ. จะมีคำสั่งระงับหรือยกเลิกการโยกย้ายผู้คุมกำลังทหาร ซึ่ง ผบ.ทบ.คนเก่าได้จัดไว้ลงเสีย ในตอนแรกจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็อาจอธิบายได้ว่าเพราะมาจากคนละหน่วยกัน แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านจาก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็น พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ซึ่งมาจากหน่วยเดียวกัน ก็เกิดการระงับหรือยกเลิกอย่างเดียวกัน
ผมไม่ได้หมายความว่า ผบ.ทบ.คนปัจจุบันไม่น่าไว้วางใจแก่ คสช. แต่ผมหมายถึง ผบ.ทบ.ทุกคนไม่น่าไว้วางใจแก่ผู้นำเผด็จการทหารทั้งนั้น ยิ่งหลังรัฐประหาร 2549 ออกกฎหมายให้กองทัพหลุดออกไปจากการควบคุมของรัฐบาล ก็ยิ่งทำให้กองทัพเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่อยู่เคียงข้างรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน แม้จะมุ่งหมายเพียงรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่กฎหมายครอบคลุมรัฐบาลทุกประเภท รวมทั้งรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารด้วย
3.ในทศวรรษ 2510 ทุนไทยส่วนหนึ่งกำลังผลักดันให้รัฐบาลเผด็จการทหารเปลี่ยนนโยบายจากส่งเสริมอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลเผด็จการทหาร แม้ทุนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของทุนทั้งหมด แต่ก็ทำให้ทุนเลือกจะไม่สนับสนุนเผด็จการทหารในยามวิกฤตของปี 2516 (แอบสนับสนุนฝ่ายนักศึกษาด้วยหรือไม่ ผมไม่ทราบ)
ในทศวรรษ 2550 ทุนไทยก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน คือไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสียยิ่งกว่าในทศวรรษ 2510 นี่เป็นธรรมดาของทุนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เผด็จการทหารช่วยอำนวยความสะดวกแก่ทุนได้ในเรื่องควบคุมแรงงาน ให้อภิสิทธิ์ต่างๆ แก่ทุน เช่น ลดความเข้มข้นของการตรวจสอบด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมลง หรือให้อภิสิทธิ์ด้านภาษีในการลงทุน ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่คำตอบแก่ปัญหาที่ทุนไทยต้องเผชิญในเวลานี้ เช่น ไม่ช่วยให้การแข่งขันในตลาดโลกของสินค้าและบริการไทยเข้มแข็งขึ้นในระยะยาว, ไม่ขยายตลาดภายในเพื่อเพิ่มการบริโภคภายในให้สูงขึ้น, ไม่เพิ่มสมรรถนะการผลิต, ไม่ทำให้เกิดนวัตกรรม ฯลฯ
ผมไม่ทราบหรอกว่าทุนไทยคิดอย่างไรกับเผด็จการทหาร เพียงแต่ขอตักตวงกำไรไปวันๆ หรือคิดถึงทางออกจากปัญหาในระยะยาว ผมคิดว่าน่าจะมีทั้งสองอย่าง กลุ่มที่คิดแก้ปัญหาในระยะยาวคงเห็นได้เองในไม่ช้าว่า แม้ไม่อาจพึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ แต่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทุนสามารถกดดันให้ทำนโยบายที่แก้ปัญหาระยะยาวได้ ในขณะที่ทำไม่ได้เลยภายใต้เผด็จการทหาร ความเป็นมิตรระหว่างทุนและเผด็จการทหารจึงไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายอาจเปลี่ยนใจได้ทั้งคู่ เผด็จการทหารที่เป็นอริกับทุนก็เคยมีเหมือนกัน หากพวกเขาเชื่อว่าการเป็นอริกับทุนทำให้อำนาจของเขามั่นคงกว่า ทุนเป็นอริกับเผด็จการทหารก็เคยมีเหมือนกัน หากเขาคิดว่าผลประโยชน์ของเขาอยู่ที่การขจัดเผด็จการทหารออกไป
4.ภายใต้สงครามเย็น เผด็จการทหารไม่เป็นที่รังเกียจของมหาอำนาจตะวันตก แต่หลังสงครามเย็น มหาอำนาจตะวันตกมองว่าประชาธิปไตยเอื้อต่อประโยชน์ของตนมากกว่า ตั้งแต่ 2500-2516 เผด็จการทหารไทยไม่เคยได้รับแรงกดดันจากมหาอำนาจตะวันตกเลย ซ้ำยังได้รับการอุดหนุนในทุกทางด้วย แต่ไม่เคยมีการรัฐประหารของกองทัพครั้งใดของไทยที่ถูกกดดันอย่างหนักจากมหาอำนาจตะวันตกเท่าครั้งนี้ จากวันที่ 22 พ.ค.2557 จนถึงทุกวันนี้ แรงกดดันนั้นยังไม่มีท่าทีผ่อนคลายลงแต่อย่างไร นโยบายตอบโต้แรงกดดันของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างประเทศหรือภายใน ไม่ประสบผลสำเร็จลดแรงกดดันลง
ความใกล้ชิดของไทยกับโลกตะวันตกสืบเนื่องกันมากว่าศตวรรษ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จะทำให้สังคมไทยอดทนต่อสภาพเช่นนี้ต่อไปได้นานเท่าไร
5.รัฐประหาร 2500-2501 รักษาการสนับสนุนของชนชั้นนำได้อย่างเป็นเอกภาพยืนนานที่สุด กล่าวคือ จนถึงหลัง 2510 ไปแล้ว จึงเริ่มเห็นสัญญาณความแตกร้าวในหมู่ชนชั้นนำจากคณะทหาร ลามมาถึงความแตกร้าวในกลุ่มที่สัมพันธ์กับชนชั้นนำ ไม่เว้นแม้แต่ในกองทัพ รัฐประหารใน 2490 เริ่มแตกกันตั้งแต่ปีแรกด้วยซ้ำ เมื่อกลุ่มทหารขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่เอามาบังหน้าออกจากอำนาจ ยิ่งเมื่อล้มเลิกรัฐธรรมนูญสายอนุรักษนิยมใน 2494 ก็แทบไม่ต้องมองหน้ากันอีกต่อไป หลังรัฐประหาร 2519 รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร อยู่ได้เพียงปีเดียว ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งก็จำเป็นต้องทำรัฐประหารซ้อนเพื่อขับไล่ออกไป แม้จะเป็นผลให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำอย่างหนักก็ตาม
ผมอยากจะพูดว่า การรัฐประหารของกองทัพ แม้ได้รับการอุดหนุนจากชนชั้นนำในทุกครั้งก็ตาม แต่กลับมีธรรมชาติที่ทำให้ชนชั้นนำแตกแยกกันเอง การรัฐประหารในครั้งสุดท้ายนี้ก็เช่นกัน เพียง 6 เดือนหลังการยึดอำนาจ เสียงของผู้นำทางสังคมซึ่งเคยสนับสนุนการรัฐประหารก็เริ่มแปร่งไป จากการท้วงติงเล็กน้อย มาถึงการต่อต้านอย่างตรงไปตรงมา แม้กระนั้นคณะรัฐประหารก็ยังได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่ง สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นเอกภาพของชนชั้นนำเองอย่างชัดเจน
ผมคิดว่าความเป็นเอกภาพของชนชั้นนำนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของระบอบปกครองไทย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤต
(ยังมีต่อ)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น