วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559
28.12.2558 อีกเมื่อไร (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
(ที่มา:มติชนรายวัน 28 ธ.ค. 2558)
เราต้องอยู่กับ คสช.ไปอีกนานแค่ไหน? นี่คือคำถามที่ใครตอบก็คงถูกหรือผิดได้เท่าๆ กัน รวมทั้งตัว คสช.เองด้วย เพราะสิ่งที่ คสช.เรียกว่าโรดแมปนั้น เป็นโรดแมปประเภท "ปลายเปิด" ซ้ำยังเปิดสองทางเสียด้วย คือถ้ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ไม่ผ่านประชามติ โรดแมปก็ยังไม่จบ หรือถึงผ่านประชามติได้ ก็ไม่รู้ว่า คสช.จะแฝงอยู่ตรงไหนหลังจากโรดแมปจบไปแล้ว
ผมก็ตอบคำถามนี้ไม่ได้เหมือนกัน แต่เพื่อให้กระบวนการค้นหาคำตอบพอจะมีเหตุผลอ้างอิงบ้าง ผมจึงเอาเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐประหารครั้งที่อยู่ในอำนาจได้นานมาเป็นตัวตั้ง แล้วลองส่องดู คสช.ว่ามีเงื่อนไขเหล่านั้นหรือไม่ มากน้อยเพียงไร กับดูเงื่อนไขที่ทำให้รัฐประหารคว่ำข้าวเม่าในเมืองไทยว่ามีเงื่อนไขเหล่านั้นอยู่หรือไม่
ทำเสร็จแล้วก็ยังตอบไม่ได้อยู่นั่นเองเพราะอะไรจะเห็นได้เองข้างหน้า
รัฐประหารครั้งไหนในเมืองไทยที่อยู่ได้นานคำตอบคือครั้ง2490และ 2501 แต่ครั้ง 2490 นั้นจะว่าอยู่นานก็ไม่ถูกทีเดียวนัก เพราะรัฐประหารครั้งนั้นได้สถาปนารัฐธรรมนูญ (ใต้ตุ่ม) ขึ้นเกือบจะทันทีที่ได้อำนาจ ซ้ำยังระดมพวกที่สนับสนุนการรัฐประหาร (พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มกษัตริย์นิยม) มาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ผ่านการรับรองของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วจึงประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ (2492) ถ้าไม่ถือว่าอำนาจรัฐประหารได้สิ้นสุดลงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ก็ต้องถือว่าได้สิ้นสุดลงเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2492 ต่อมาก็รัฐประหารอีกครั้งหนึ่งแล้วนำเอารัฐธรรมนูญเก่าที่เคยใช้มาแล้วอย่างยาวนานคือฉบับ 2475 (ฉบับที่สอง) เอามาแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับต่อมา ถือว่าอำนาจรัฐประหารก็สิ้นสุดลงเกือบทันทีเช่นกัน
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อำนาจที่ได้จากการรัฐประหาร 2490 ช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมืองจากการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเป็นอำนาจสูงสุด แล้วบริหารบ้านเมืองไปตามรัฐธรรมนูญนั้น หากจะฆ่าปิดปากใครหรือกระทืบใครก็ทำด้วยวิธีนอกกฎหมาย เพียงแต่จับคนร้ายไม่เคยได้เท่านั้น แต่ไม่มีมาตรการพิเศษเช่น ม.44 อยู่เหนือรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง
การรัฐประหาร 2500 ก็เช่นเดียวกัน ผู้ได้อำนาจไม่ได้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่การยึดอำนาจอีกครั้งใน 2501 ล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และไม่ใส่ใจจะหาความชอบธรรมจากรัฐธรรมนูญอีกเลยตลอดมา 15 ปี นี่จึงเป็นรัฐประหารครั้งที่อยู่ได้นานพอจะเอามาเทียบกับ คสช.ได้
ผมขอสรุปเงื่อนไขและการกระทำของรัฐประหารสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ที่ช่วยให้อำนาจเผด็จการสามารถตั้งอยู่ได้นาน และเปรียบเทียบกับ คสช.ไปพร้อมกัน
ประการแรก รัฐประหารครั้งนั้นทำเหมือนรัฐประหารทุกครั้ง คือทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลชุดก่อน ข้อกล่าวหาที่ใช้กันมาตั้งแต่ 2490 ก็คือคอร์รัปชั่น (กินหิน กินกรวด กินทราย), กระทบกระเทือนต่อพระบรมเดชานุภาพ, ละเมิดกฎหมายอาญาอย่างร้ายแรง (เช่นมีส่วนร่วมปลงพระชนม์ หรือค้าฝิ่น, ฆ่าศัตรูทางการเมืองอย่างทารุณโหดร้าย, ตั้งกองกำลังส่วนตัว) วิธีกล่าวหาให้น่าเชื่อถือมีหลายอย่าง เช่น สร้างหรือกระพือข่าวลือผ่านสื่อที่สนับสนุนการรัฐประหาร, กระทำโดยท่าที เช่น ถวายความอารักขาพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าข่าวลือว่าการกระทำของสมาชิกรัฐบาลเก่าบางคนกระทบกระเทือนต่อพระบรมเดชานุภาพนั้นอาจมีมูล,ตั้งคณะกรรมการขึ้นสืบสวนคดีการฆาตกรรมหรือการละเมิดกฎหมายร้ายแรงของรัฐบาลที่แล้วซึ่งเป็นข่าวลือมานานแล้วจากนั้นก็มีรายงานการสืบสวนปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์การเลือกคดีขึ้นสอบสวน คณะรัฐประหารย่อมเลือกเฉพาะส่วนที่ไม่กระทบถึงตนเอง เช่น ไม่มีการสอบสวนเรื่องการค้าฝิ่นเถื่อนเลย เพราะธุรกิจฝิ่นเถื่อนนั้นเป็นธุรกิจที่กองกำลังติดอาวุธทั้งทหารและตำรวจต่างเข้าไปพัวพันทั้งสองฝ่าย
เปรียบเทียบมาตรการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลชุดที่แล้วของคณะรัฐประหารชุดปัจจุบันในแง่หนึ่งก็ถือว่าคสช.โชคดีกว่าเพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้าการรัฐประหารได้ช่วยทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลชุดที่แล้วไปไม่น้อยแล้วนับตั้งแต่การออกพ.ร.บ.เหมาเข่ง,นโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาสูง,โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นนโยบายที่ผิดหรือถูกยกไว้ก่อน แต่อย่างน้อยประชาชนส่วนหนึ่งก็ถูกทำให้เห็นว่าเป็นความฉ้อฉลทั้งหมดไปก่อนการยึดอำนาจแล้ว
แต่การจะกล่าวหารัฐบาลชุดที่แล้วหลังรัฐประหารคณะยึดอำนาจต้องเป็นผู้เลือกเองสองอย่างหนึ่งคือเลือกประเด็นเองและเลือกวิธีที่จะจัดการกับประเด็นเหล่านั้นเองผมคิดว่าเสรีภาพในการเลือกสองอย่างนี้สำคัญ เพราะสังคมจะเชื่อถือหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม จนลืมไปว่าที่จริงคณะรัฐประหารแย่งอำนาจจากรัฐบาลเก่าด้วยวิธีนอกกฎหมาย ขอยกตัวอย่างนะครับ ความเคลื่อนไหวของประชาชน (ซึ่งเครือข่ายที่หนุนหลังเพื่อนำมาสู่การรัฐประหารจัดขึ้น) อาจมีความเคียดแค้นคนในตระกูลชินวัตร จนเหมือนกลายเป็นความเคียดแค้นส่วนตัว แต่คณะรัฐประหารซึ่งแม้เป็นผลผลิตของความเคลื่อนไหวก็ตาม ต้องไม่แสดงความเคียดแค้นส่วนตัวให้เห็น
เขาเล่ากันว่า เมื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ บอกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่า "อั๊วไม่สู้" สฤษดิ์ก็บอกเผ่าให้เดินทางไปต่างประเทศเสีย จะเลือกไปประเทศอะไร เผ่าบอกจะไปสวิตเซอร์แลนด์ สฤษดิ์ก็จัดการให้ไปได้โดยสะดวก
เช่นการรับจำนำข้าวทุกเม็ดด้วยราคาสูงของรัฐบาลชุดที่แล้ว อย่างไรเสียก็คงมีการทุจริตเกิดขึ้นในหลายระดับ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หากเร่งดำเนินคดีจนถึงตัดสินกันในชั้นศาลหลายๆ คดีเข้า ความชอบธรรมของโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งแม้เป็นที่ถูกใจของคนจำนวนมากก็ขาดความชอบธรรมไปเอง คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งแม้ไม่โดนคดีอะไรเลยก็สูญเสียความน่าเชื่อถือลงไป เพราะไม่อาจระมัดระวัง (ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ในทางกฎหมาย) มิให้เกิดการทุจริตได้ โดย คสช.ไม่ต้องพูดให้ร้ายคุณยิ่งลักษณ์สักคำเดียว ความชอบธรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ลดลงอย่างเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมด้วย
คณะรัฐประหารที่ไปรับ "วาระแห่งชาติ" มาจากม็อบการเมือง ซ้ำยังรับเอาวิธีจัดการ "วาระ" เหล่านั้นจากม็อบมาด้วย ย่อมสูญเสียอำนาจในการกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่เหมาะสมของตนเองไปหมด คนที่ดิ้นไม่ค่อยถนัดคือคณะรัฐประหาร ซึ่งมีความรับผิดชอบเต็มมือ ในขณะที่ม็อบซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยกลับบ้านนอนตีพุงสบายไป
และด้วยเหตุดังนั้น เกือบ 2 ปีหลังยึดอำนาจ คสช.จึงยังไม่สามารถลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาลที่ตนยึดอำนาจมาได้ มากไปกว่าที่การเคลื่อนไหวของ กปปส.ได้ทำมาแล้ว ถ้าความชอบธรรมของปรปักษ์ไม่ลดลง ความชอบธรรมของคณะยึดอำนาจก็ไม่เพิ่มขึ้น และนี่คือเหตุผลที่ คสช.ต้อง "พึ่ง" ม็อบนกหวีดไม่มีที่สิ้นสุด กลุ่มนี้ต่างหากที่ช่วงชิงความชอบธรรมได้สูงกว่า คสช.จึงต้องใช้กลุ่มนี้ในการช่วงชิงความชอบธรรมกับสหรัฐ, อียู, สหประชาชาติ หรือในวันหนึ่งข้างหน้าอาจรวมองค์กรที่น่าเชื่อถือของไทยเองด้วย ระยะนี้ยังใช้ช่วงชิงกับบุคคล เช่น อานันท์ ปันยารชุน, ขุนนางของ ส.ส.ส., ขุนนางของไทยพีบีเอส ฯลฯ เท่านั้น แต่วันข้างหน้าไม่แน่
ประการที่สองที่รัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้ในการรักษาอำนาจให้อยู่ได้ยืนนาน ก็คือการสร้างความชอบธรรมแก่ระบบอำนาจนิยมของตน ผมขอรวมเรียกมาตรการทั้งหมดนี้ว่านโยบายพัฒนา ซึ่งไม่ได้มีแต่มิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
ในทางเศรษฐกิจ นโยบายพัฒนาเข้ามาในจังหวะที่วิเศษสุดสำหรับสฤษดิ์ ตกมาถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 25 พื้นที่อันเหมาะสมกับการปลูกข้าวในภาคกลางถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ชาวนาบุกเบิกจำนวนมากขยายไปจับจองที่ดินทำนาจนเต็มพื้นที่ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการแบ่งพื้นที่นาให้เล็กลง จนทำให้ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำอยู่แล้วยิ่งต่ำลงอีก และมีข้าวเหลือจากการบริโภคเพื่อส่งออกลดน้อยลง
ดังนั้น นโยบายพัฒนาที่เริ่มกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง จึงช่วยแก้ปัญหาการชะงักงันทางเศรษฐกิจได้อย่างดี ปลดปล่อยพลังการผลิตของทั้งประเทศออกมาได้มหาศาล ถนนและการขนส่งทำให้พื้นที่ป่าอันเหมาะสมในการทำนาเพราะอยู่ติดแม่น้ำของภาคอีสานถูกเปิดขึ้น เพิ่มการผลิตข้าวในภาคอีสานเป็นอันมาก ถนนยังทำให้มีการเปิดป่าทั่วไปเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพืชไร่ที่มีความต้องการในตลาดโลกเวลานั้น ทั้งทางคมนาคมและการขยายการผลิตพลังงาน ทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปพืชผลการเกษตรเพื่อส่งออกขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าซึ่งสามารถดูดซับแรงงานได้เป็นจำนวนไม่น้อย ในขณะที่นายทุนสามารถสะสมทุนได้ในอัตราที่เร็วขึ้นมาก ก็สามารถใช้ถนนหนทางเปิดตลาดภายในให้กว้างขวางขึ้นตลอดมาด้วย
ในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่านโยบายพัฒนาของสฤษดิ์จะมีข้อบกพร่องอย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำความพอใจให้แก่คนทุกฝ่าย ความพอใจนี้ทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองกับระบอบอำนาจนิยมสฤษดิ์ด้วยว่า การเมืองต้อง "นิ่ง" (สำนวนสมัยหลัง) การใช้อำนาจของสฤษดิ์แม้เป็นการละเมิดหลักนิติธรรมอย่างไรจึงเป็นที่รับได้ ทั้งๆ ที่หลายครั้งเช่นการยิงเป้าคนกลางเมืองคือการข่มขู่คุกคามประชาชนอย่างป่าเถื่อนก็ตาม
ผู้คนชอบคิดว่าม.17(หรือม.44)ต้องมีไว้เพื่อให้หัวหน้าคณะรัฐประหารสามารถบริหารและทำการเมืองให้ "นิ่ง" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องมีฐานความชอบธรรมใดๆ นอกจากอำนาจดิบ นี่เป็นความเข้าใจที่ตื้นเขิน อำนาจใดๆ ก็ตามจะยั่งยืนได้จริงต้องมีฐานความชอบธรรมเสมอ กฎหมายเฉยๆ ไม่ใช่ฐานความชอบธรรม แต่ความเป็นจริง (โดยเฉพาะในความรู้สึกของผู้คน) ทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และวัฒนธรรมต่างหากที่เป็นฐานความชอบธรรม ความพอใจต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสฤษดิ์ต่างหาก ที่ทำให้ ม.17 ของสฤษดิ์ชอบธรรมแก่คนจำนวนมากในประเทศ
มาตราทำนองนี้ถูกใช้โดยนายกรัฐมนตรีพลเรือนของเผด็จการทหารหลัง6ตุลาก็ขาดฐานความชอบธรรมที่เป็นจริงในความรู้สึกของคนและเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นายกรัฐมนตรีผู้นั้นถูกรัฐประหารซ้อนในเวลาต่อมา มาตราทำนองนี้จึงเป็นได้ทั้งเครื่องมืออำนวยความมั่นคงแก่อำนาจรัฐประหาร หรือเครื่องมือบ่อนทำลายความมั่นคงของอำนาจรัฐประหาร ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลอย่างที่เนติบริกรเข้าใจ
ผลงานด้านเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารปัจจุบันเป็นอย่างไรคงไม่ต้องพูดถึงเพราะรู้ๆ กันอยู่แล้ว
จะว่าเศรษฐกิจเริ่มชะงักงันมาตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ได้ แต่นั่นเป็นผลมาจากการที่ชนชั้นนำร่วมมือกันบ่อนทำลายด้วยมาตรการสำคัญสามประการ หนึ่ง-คือทำให้การลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐทำไม่ได้ด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ สอง-ทำให้การไหลสะพัดของเงินรับจำนำข้าวหยุดลงด้วยการกดดันของม็อบนกหวีด และสาม-ทำให้การลงทุนภาคเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศหยุดลงเพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมือง แต่การยึดอำนาจของกองทัพไม่ได้ทำให้สภาวะชะงักงันนี้ยุติลง ซ้ำทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองไทย จนกระทั่งการลงทุนมีความเสี่ยงมากขึ้น
จะเป็นด้วยปัจจัยภายในหรือภายนอกก็ตาม เศรษฐกิจไทยไม่กระเตื้องขึ้น (ต้องไม่ลืมด้วยว่านโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ได้รับการสนับสนุนผลักดันทั้งจากสหประชาชาติและสหรัฐ) เกือบ 2 ปีแล้ว แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังไม่มีใครมองเห็น แม้ว่าทุกคนได้ยินข่าวเกี่ยวกับแสงสว่างนั้นจากปากคำของฝ่ายรัฐประหารมานาน
ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ใครแคร์ว่าการเมืองจะ "นิ่ง" หรือไม่ แม้แต่ข้อครหาถึงการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารเสมอมา คสช.ก็ไม่ได้ให้ความหวังแก่ใครว่าการยึดอำนาจของตนจะทำให้การคอร์รัปชั่นในวงการเมืองและการบริหารของไทยยุติลงได้แม้แต่ตัวคสช.เองก็ไม่ปลอดพ้นจากข้อสงสัยนี้มาตั้งแต่ยังไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลและจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำความกระจ่างในข้อสงสัยนั้นได้สักเรื่องเดียว(จากไมโครโฟน, การขายที่, มาจนถึงอุทยานราชภักดิ์ และรถไฟจีน)
(ยังมีต่อ)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น