วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

02.10.2558 ทำไมกองทัพต้องรัฐประหาร อะไรคือความขัดแย้งที่แท้จริง ? คอลัมน์ ดุลยพินิจดุลยพินิจ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร/มติชนรายวัน 2 ต.ค.2558

ผาสุก พงษ์ไพจิตร : ทำไมกองทัพต้องรัฐประหาร อะไรคือความขัดแย้งที่แท้จริง ? คอลัมน์ ดุลยพินิจดุลยพินิจ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร/มติชนรายวัน 2 ต.ค.2558
คำถามนี้ศาสตราจารย์อาเสโมกูลที่มหาวิทยาลัย MIT และคณะ มีคำตอบที่น่าสนใจ เขาสร้างแบบจำลองง่ายๆ เพื่อวิเคราะห์บทบาทของกองทัพกับการเมือง แจกแจงมูลเหตุที่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้สมมุติฐานบางประการเกี่ยวกับแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของกองทัพในประเทศประชาธิปไตยกำลังพัฒนาร่วมสมัย เช่นที่ละตินอเมริกาและแอฟริกาเมื่อสิบถึงยี่สิบปีที่แล้ว ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยยังไม่ลงหลักปักฐาน และชี้ให้เห็นความขัดแย้งเบื้องลึก แบบจำลองอย่างง่ายมีประชาชน 2 กลุ่ม ชนชั้นนำหรือคนรวยเป็นคนส่วนน้อย คนธรรมดาฐานะด้อยกว่าเป็นคนส่วนใหญ่ ความเหลื่อมล้ำระหว่าง 2 กลุ่มสูง ประชาธิปไตย หมายถึงรัฐบาลสร้างสินค้าบริการสาธารณะให้กับทุกคน แต่ชนชั้นนำไม่อยากได้เพราะมีเงินมากพอจะจัดหาเองได้ ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆ จึงเป็นคนธรรมดา ชนชั้นนำ/ผู้มีฐานะจึงต่อต้านประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าภาษีที่เสียให้รัฐบาล เป็นประโยชน์กับคนธรรมดามากกว่าพวกเขา (ลืมนึกถึงสันติสุขของสังคม) ยิ่งความเหลื่อมล้ำสูง ต้นทุนสำหรับชนชั้นนำจะยิ่งสูง ชนชั้นนำส่วนมากจึงไม่พิศมัยประชาธิปไตย ถ้าเริ่มจากระบอบการปกครองโดยชนชั้นนำจำนวนน้อย เช่นคณาธิปไตย หรืออภิชนาธิปไตย ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ชนชั้นนำมีทางเลือก 3 ทาง (1) ไม่ปรามขบวนการประชาธิปไตย ยอมให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างราบรื่น (2) ปรามอย่างแข็งขัน โดยให้กองทัพเป็นผู้จัดการเรื่องนี้ แลกกับอภิสิทธิ์และเงินงบประมาณทหารอย่างงาม หรือ (3) ปราม แต่ขี้เหนียว จ่ายกองทัพเพียงเล็กน้อย ในแบบจำลองนี้ สมมุติฐานเกี่ยวกับกองทัพคือมีเป้าหมายรักษารายได้และเพิ่มอภิสิทธิ์ของกลุ่มตนเป็นหลัก จะยอมเป็นกลไกหรือเอเยนต์ให้ชนชั้นนำก็ต่อเมื่อบรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าว แต่ละยุทธศาสตร์มีผลต่างกัน ถ้าปรามอย่างมีประสิทธิภาพ ชนชั้นนำต้องสร้างกองทัพใหญ่เข้มแข็ง แต่ชนชั้นนำยังมีต้นทุนอีกคือ ต้องจัดสรรงบและให้อภิสิทธิ์กองทัพให้เป็นที่พอใจ มิเช่นนั้นก็เสี่ยงที่จะถูกยึดอำนาจโดยรัฐประหารเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหาร ถ้าปรามแบบหละหลวม คือจ่ายกองทัพน้อย โอกาสจะถูกยึดอำนาจ จะยิ่งสูงขึ้น ถ้าไม่ปรามก็ไม่ต้องสร้างกองทัพขนาดใหญ่ ประเทศก็จะค่อยๆ เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่คนธรรมดาจำนวนมากต้องการ ซึ่งจากประวัติศาสตร์ของประเทศพัฒนาแล้ว ประชาธิปไตยสร้างเสถียรภาพให้สังคมและการเมืองได้ เศรษฐกิจก็จะเจริญเติบโตไปได้ดี อาเสโมกูลวิเคราะห์ต่อไปว่า ประเทศที่มีรัฐบาลประชาธิปไตยขั้นเริ่มต้น และได้รับมรดกกองทัพใหญ่และเข้มแข็ง มาจากระบอบคณาธิปไตยในอดีต จะเผชิญกับความยุ่งยากในการสถาปนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืน เพราะกองทัพจะเป็นตัวแปรที่มีบทบาททางการเมืองได้ กล่าวคือ จะเกิดสภาวะไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ รัฐบาลประชาธิปไตยจะต้องหาโอกาสปฏิรูปกองทัพ เพราะว่า (1) เพื่อลดงบประมาณทหารเอามาจัดสร้างสินค้าบริการสาธารณะ และระบบสวัสดิการสังคมให้ประชาชนคนส่วนมากที่เลือกพวกเขาเป็นรัฐบาล (2) เพื่อไม่ให้ทหารมีโอกาสยึดอำนาจ แต่กองทัพก็ตระหนักว่า จะถูกรัฐบาลประชาธิปไตยลดบทบาท ส่งผลให้พวกเขาเสียอภิสิทธิ์และรายได้ที่เคยได้มา จึงจะหาโอกาสยึดอำนาจแล้วปกครองประเทศเสียเอง เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เป็นผลได้กับพรรคพวกในกองทัพอย่างเต็มที่ เกิดเป็นภาวะที่กระอักกระอ่วนและต่างไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เป็นต้นตอของความไร้เสถียรภาพทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เสมือนอยู่ในกับดักตลอดเวลา ปัจจัยที่กล่าวมาเป็นความยุ่งยากของประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับมรดกกองทัพเข้มแข็ง แต่ประชาชนต้องการประชาธิปไตย กล่าวคือศาสตราจารย์อาเสโมกูล ชี้ให้เห็นปัญหาหลักอีกประการของประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่คือ ความขัดแย้งที่สำคัญ ระหว่างประชาชนคนธรรมดาที่ต้องการประชาธิปไตยกับกองทัพที่มีวาระความต้องการของตนเองนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น