วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

23.10.2558 บทเรียน การเมือง กรณี ปฏิญญา ฟินแลนด์ บทสรุป ศาลฎีกา

บทเรียน การเมือง กรณี ปฏิญญา ฟินแลนด์ บทสรุป ศาลฎีกา (ที่มา:ติชนรายวัน 23 ต.ค.2558)
คําพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พรรคไทยรักไทยยื่นฟ้อง นายปราโมทย์ นาครทรรพ และบริษัท มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในกรณีที่เรียกว่า "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์" หรือ "ปฏิญญาฟินแลนด์" น่าคิด น่าศึกษา ไม่เพียงเพราะบทความของ นายปราโมทย์ นาครทรรพ ชิ้นนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 หากแต่ยังเป็น "เครื่องมือ" สำคัญในการ "ขยายความ" 1 ขยายความเป็น "ประเด็น" ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน 1 พัฒนาเป็นบทความอื่นและหนังสือเป็นเล่มอีกจำนวนหนึ่ง ภายใต้ "ข้อมูล" และ "ความเชื่อ" อย่างเดียวกัน เป็นข้อมูลและความเชื่ออันดำเนินไปตามชื่อของบทความ นั่นก็คือ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์:แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย?" สะท้อนบทบาทในการ "ปูทาง" และ "สร้างเงื่อนไข" อันนำไปสู่การยึดอำนาจ โค่นล้มรัฐบาลซึ่งมาจากกระบวนการเลือกตั้งโดยวิธีการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 อันกลายเป็น "วิกฤต" ต่อเนื่องมากระทั่ง "ปัจจุบัน" กระบวนการฟ้องร้องและต่อสู้ระหว่างโจทก์และจำเลยในคดีที่รับรู้กันในนามว่า "คดีปฏิญญาฟินแลนด์" นี้ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอน ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 ว่า "บทความนี้ไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามหลักวิชาการ มีเนื้อหาดูหมิ่นโจทก์ทั้งสอง จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 4 เป็นเวลา 1 ปี และปรับคนละ 100,000 บาท" จำเลยที่ 1 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 ยืนบทลงโทษในส่วนของ นายปราโมทย์ นาครทรรพ จำเลยที่ 1 แต่ นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง นายปราโมทย์ นาครทรรพ ยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนให้จำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนด 2 ปี และให้โฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ ไทยรัฐ เดลินิวส์ บ้านเมือง มติชน เป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกัน โดยจำเลยที่ 1 (นายปราโมทย์ นาครทรรพ) เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย คดีปฏิญญาฟินแลนด์ก็เช่นเดียวกับคดีแถลงการณ์ปราสาทพระวิหาร ก็เช่นเดียวกับคดียิงกระทรวงกลาโหม ก็เช่นเดียวกับคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ นั่นก็คือ ผ่านขั้นตอนของ "ศาลฎีกา" และขั้นตอนนั้นสะท้อนว่ากรณีปฏิญญาฟินแลนด์ ไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามหลักวิชาการ และขั้นตอนนั้นสะท้อนว่ากรณีแถลงการณ์ปราสาทพระวิหารมิได้เป็นไปตามข้อกล่าวหา และขั้นตอนนั้นสะท้อนว่ากรณีการยิงกระทรวงกลาโหมที่ระบุว่าเป้าหมายคือวัดพระศรีรัตนศาสดารามมิอาจระบุว่าเป็นความผิดของจำเลย และขั้นตอนนั้นสะท้อนว่ากรณีการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ไม่อาจระบุว่าเป็นความผิดของจำเลย บทสรุปของ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเคยเป็น "เหยื่อ" ในข้อกล่าวหาว่าทำให้ไทย "อาจจะ" เสียดินแดน จึงน่าศึกษา น่าพิจารณา "เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์และเป็นบทเรียนว่า ในทางการเมืองนั้นแม้เราจะชอบหรือไม่ชอบใครก็ตามควรนำความจริงมาพูดกัน นับแต่นี้เป็นการใส่ร้ายกันด้วยความเท็จควรยุติกันได้แล้ว เพราะสังคมไม่ได้ประโยชน์ แต่ผู้ถูกใส่ร้ายได้รับความเสียหาย" กรณี "ปฏิญญาฟินแลนด์" มีการใส่ร้ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 และศาลฎีกาทำความกระจ่างในคำพิพากษาในเดือนตุลาคม 2558 ใช้เวลา 9 ปีเศษ จึง "ปรากฏ" ไม่ว่าบทเรียนคดีฟินแลนด์ ไม่ว่าบทเรียนคดียิงกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าบทเรียนกรณีแถลงการณ์ปราสาทพระวิหาร ไม่ว่าบทเรียนกรณีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เป็น "บทเรียน" อันทรงคุณค่าและ "ความหมาย" ด้าน 1 สะท้อนให้เห็นความอาฆาตมาดร้ายในทางการเมือง ด้าน 1 สะท้อนให้เห็นวิถีดำเนินแห่งกระบวนการยุติธรรม "คำตอบ" จึงขึ้นกับ "ศาลฎีกา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น