วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558
05.10.2558 ร่วมอภิรมย์หรือข่มขืน?...ความในใจของ"ผู้หญิง"ในวรรณคดี โดย ดอกฝน.
ร่วมอภิรมย์หรือข่มขืน?...ความในใจของ"ผู้หญิง"ในวรรณคดี
โดย ดอกฝน
วันที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2558
ที่มา:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1443935189
เคยตั้งคำถามกันไหมบทสังวาสหรือบทอัศจรรย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะในวรรณกรรมหรือวรรณคดีหลายเรื่องที่ผู้เขียนร้อยละ 99.99% เป็นเพศชายนี่ จริงๆ แล้วเขียนขึ้นและถูกอ่านด้วยมุมมองแบบไหน
มันคือความสุข ความรื่นรมย์ ของผู้หญิงจริงๆ หรือเป็นเพียงมุมมองของผู้ชายเท่านั้น
ในเสวนาวิชาการ "Queer Series#3 "รักต้องห้าม" (Queer Desires & Queer Erotica: Heterosexual Queer)" โดยวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นำเสวนาโดย "รศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา" และ "ผศ.ดร.เสาวณิต จุลวงศ์" เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจมาก
โดยเฉพาะจากบทความของ ผศ.ดร.เสาวณิต ที่ตั้งคำถามถึงมุมมองใหม่ต่อบทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ว่าที่สุดแล้วบทสังวาสในหลายเรื่อง ที่นักวิชาการ นักอ่าน นักเขียนเคยยกย่องว่างามนักหนา จริงๆ แล้วเป็นความงามจากการร่วมอภิรมย์จริงๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการข่มขืนหรือถูกกระทำอย่างไม่เต็มใจกันแน่?
ผศ.ดร.เสาวณิตบอกว่า จุดเริ่มต้นของการศึกษาครั้งนี้ เริ่มขึ้นจากการ "มองใหม่" เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงกระบวนการกลบเกลื่อนและกดทับการล่วงละเมิดในวรรณคดีไทย เป็นการมองใหม่ที่เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการกำหนดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ข่มขืน" และเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ร่วมอภิรมย์" ซึ่งสะท้อนว่าแง่มุมในการตัดสินทางจริยศาสตร์ของสังคมไทยนั้น เกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคมของผู้กระทำและประโยชน์จากการกระทำ มากกว่าการกระทำนั้นเอง
ในอดีต การอ่านวรรณคดีไทยจะเป็นเชิงคุณค่าในแง่หนึ่ง ซึ่งจะหลีกเลี่ยงการค้นพบด้านลบของวรรณคดีไทย โดยให้ความสนใจในแง่ของศิลปะการประพันธ์เป็นหลัก เพราะฉะนั้นการอ่านบทอัศจรรย์ในวรรณคดีก็หนีไม่พ้นขนบของการให้คุณค่าในลักษณะดังกล่าว จนละเลยที่จะให้ความสนใจสถานการณ์ที่ทำให้เกิดเหตุสังวาสในบางเหตุการณ์
อาทิ ตอนที่ขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยาใน "ขุนช้างขุนแผน" ที่ได้รับการยกย่องว่าไพเราะเหลือเกินนั้น ไม่มีใครสนใจเลยว่านั่นคือการล่วงละเมิด และมีวรรณคดีไทยจำนวนไม่น้อยที่เข้าข่ายผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศไปจนถึงข่มขืน แต่เหตุการณ์เหล่านั้นถูกกลบเกลื่อนด้วยกลวิธีการประพันธ์และการอ่านของผู้อ่านเอง
โดย ผศ.ดร.เสาวณิตเลือกบทอัศจรรย์มาอ่านใหม่ 4 เรื่อง คือ "รามเกียรติ์" ฉบับรัชกาลที่ 1 "อิเหนา" ฉบับรัชกาลที่ 1 กากีกลอนสุภาพและเสภา "ขุนข้างขุนแผน" เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงการล่วงละเมิดทางเพศที่แฝงอยู่และชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคม ที่ปรากฏผ่านการนิยามเหตุการณ์ความสัมพันธ์เหล่านั้น
ซึ่งถ้าลองถอดเสียงของผู้เล่าที่มักเล่าว่าฝ่ายหญิงมีความยินดีในฝ่ายชาย และคำกวีอันไพเราะที่นำเสนอความชื่นชมของทั้งชายหญิง เหลือแต่เฉพาะสถานการณ์แล้ว เราสามารถมองเห็นได้ถึงภาวการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ ที่เป็นไปได้ตั้งแต่บังคับให้จำยอม และอาจไปไกลถึงข่มขืนหรือใช้กำลังบังคับ โดยที่ตัวละครหญิงเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะปฏิเสธฝ่ายชาย และตกอยู่ในภาวะจำยอมหรือเลือกไม่ได้ เพราะฝ่ายชายมีฐานะที่เหนือกว่า
อาทิ ตอนทศกัณฐ์ยกเขาไกรลาสให้กลับตั้งตรงได้ เลยได้นางมณโฑเป็นรางวัลจากพระอิศวร ขณะพากลับก็เหาะข้ามกรุงขีดขินของพาลี พาลีไม่พอใจเลยสู้กัน พาลีชนะ ทศกัณฐ์เลยทิ้งนางมณโฑแล้วหนีไป พาลีก็ได้สังวาสกับนาง ซึ่งนางมณโฑตกในฐานะเชลยศึกจะขัดขืนอะไรได้ หรือตอนขุนแผนได้นางแก้วกิริยา ทาสในเรือนขุนช้าง ก็ได้ด้วยการเป่ามนต์มหาละลวยแล้วเล้าโลม เท่ากับว่าจำยอมด้วยเวทมนตร์คาถาไม่ต่างอะไรกับการลักหลับเลย
แต่เนื้อเรื่องทั้งหมด ที่เป็นเสียงเล่าของกวีฝ่ายชายจะข้ามผ่านสถานการณ์กระอักกระอ่วนน่าปวดร้าวของผู้หญิงที่ถูกล่วงเกิน และมุ่งเล่าถึงความยินดีโอนอ่อนผ่อนตาม และทุกเรื่องจะเล่าว่าหลังการสังวาสนั้น ฝ่ายหญิงจะมีความพิศวาสฝ่ายชายอย่างยิ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วความยินดีดังกล่าวจะขัดกับอุดมคติสงวนตัวในยุคนั้น เพราะฉะนั้นเสียงครวญจากความรู้สึกเสียรู้หรือใจอ่อนที่กวีเขียนตามขนบไป จึงแผ่วเบาจนแทบจะไม่ได้ยิน
การมีความสัมพันธ์โดยฝ่ายหญิงไม่ยินยอมคงทำให้ฝ่ายชายเสียหน้าไม่น้อย เรื่องเล่าของผู้ชายจึงกลบเกลื่อนให้สภาพจำยอมเลือนหายไป ด้วยการนำเสนอความยินดีของผู้หญิงแทน
และเมื่อประกอบกับความเป็นพระเอก หรือตัวละครฝ่ายดี การนำเสนอยิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้ตัวละครเหล่านั้นไม่ถูกกล่าวโทษและตอบสนองต่อเป้าหมายของตัวบท
เข้าทำนองคนดีไม่ทำชั่วจริงๆ
แนวคิดดังกล่าวพัฒนามาสู่การสร้างเรื่องราวในวรรณกรรมปัจจุบัน โดยเฉพาะในนวนิยาย ภาพยนตร์ และละคร ถ้าลองสังเกตผลงานฮิตๆ อย่าง "ดาวพระศุกร์", "จำเลยรัก", "สวรรค์เบี่ยง", "คู่กรรม" ฯลฯ ที่เป้าหมายสุดท้ายคือความสมรักของพระเอกนางเอก ส่งผลให้การข่มขืนเป็นวิธีที่พระเอกทำได้ และได้รับการยอมรับจากนางเอก รวมถึงผู้แต่ง ผู้อ่าน ผู้ชม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทั้งที่อุดมการณ์เดิมของกวีและนักเขียนชายช่วงปี 2500 กำหนดไม่ให้พระเอกล่วงละเมิดทางเพศต่อนางเอก เพราะยึดถือค่านิยมในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิงเป็นสำคัญ
ปรากฏการณ์การให้อภัยการกระทำผิดเพื่อประโยชน์ของตัวเอง (ไม่ว่าจะเป็นทศกัณฐ์ยันคุณภาคย์) สะท้อนวิธีคิดแบบให้ความสำคัญแก่เป้าหมายมากกว่าวิธีการ การกระทำไม่มีความหมายในตัวเอง เพราะขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของผู้กระทำ และเมื่อประเมินจากภาพลักษณ์ความดีความชั่วที่อ้างถึง ก็ยิ่งทำให้กลายเป็นเหมือนคาถาปกป้องการกระทำของตัวเอง
แนวคิดเหล่านี้ผลิตซ้ำในเรื่องเล่าบันเทิงคดีจำนวนมาก จนดูราวกับจะเป็นรากฐานการพิจารณาปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยปัจจุบัน และก่อให้เกิดข้อถกเถียงตามมาว่าทำไมขบวนการทางศิลปะ วรรณกรรมและบันเทิงของไทย จึงเดินสวนกับอุดมการณ์ของโลกปัจจุบัน โดยตอบรับความเปลี่ยนแปลงเพียงแผ่วเบาเช่นนี้
และเราคงมีคุณภาคย์ไปเรื่อยๆ อย่างไม่จบสิ้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น