วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

24.10.2558 องค์กรรณรงค์เพื่อความโปร่งใส Global Witness เผย ผู้นำทหารเมียนมาร์มีเอี่ยวผลประโยชน์มหาศาลในธุรกิจค้าหยก ชี้เหมืองหยกเป็นเหตุให้ความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยในรัฐคะฉิ่นไม่สงบ

องค์กรรณรงค์เพื่อความโปร่งใส Global Witness เผย ผู้นำทหารเมียนมาร์มีเอี่ยวผลประโยชน์มหาศาลในธุรกิจค้าหยก ชี้เหมืองหยกเป็นเหตุให้ความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยในรัฐคะฉิ่นไม่สงบ ขอบคุณ ภาพและข่าว จาก fb:บีบีซีไทย - BBC Thai วันเสาร์ ที่ 24 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2558
โจนาห์ ฟิชเชอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เมียนมาร์รายงานว่า องค์กรรณรงค์เพื่อความโปร่งใส Global Witness ได้เปิดเผยรายงานที่ศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจการทำเหมืองหยกและค้าหยกในเมียนมาร์ ซึ่งมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้นำกองทัพและชนชั้นนำ โดยในรายงานได้ประมาณการว่า เฉพาะปีที่แล้วเพียงปีเดียว สามารถสกัดหยกจากการทำเหมืองในรัฐคะฉิ่นออกมาได้เป็นมูลค่าถึงราว 3,100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเลยทีเดียว รายงานของ Global Witness ระบุว่า หยกส่วนใหญ่มาจากเหมืองผะกันในรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นเหมืองหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสัมปทานในการทำเหมืองและค้าหยกจากเหมืองแห่งนี้ ตกอยู่กับบรรดาผู้นำในยุครัฐบาลทหาร หรือผู้ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกองทัพเท่านั้น โดยผู้ได้รับสัมปทานต่างได้รับผลประโยชน์จากเหมืองหยกคิดเป็นมูลค่ารายละกว่าหลายสิบล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งในส่วนของพลเอกอาวุโสตานฉ่วยและครอบครัวนั้น ทำรายได้จากหยกไปถึงราว 220 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2013-2014 ทำให้คาดว่ามีการทำรายได้จากหยกในบรรดาผู้นำของเมียนมาร์ไปแล้วราว 120,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รายชื่อบุคคลและบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหมืองหยกส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารในยุคก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่งเมื่อปี 2011 แต่ก็ยังมีรายชื่อที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในรัฐบาลชุดปัจจุบันและกองทัพอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ การประมาณการตัวเลขผลประโยชน์ในการทำเหมืองและการค้าหยกดังกล่าว ได้มาจากการนำตัวเลขปริมาณผลผลิตหยกที่เป็นทางการ มาคำนวณกับราคาหยกในท้องตลาด และตรวจสอบเทียบเคียงกับปริมาณการนำเข้าหยกของจีน ซึ่งเป็นผู้รับซื้อหยกรายใหญ่ของเมียนมาร์ด้วย ซึ่งนายเย เตห์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงเหมืองแร่ของเมียนมาร์ยอมรับว่า ตัวเลขประมาณการดังกล่าวมีความเป็นไปได้จริง แต่หยกส่วนใหญ่ที่สกัดมาจากเหมืองถูกนำไปกักตุนไว้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้นำออกขายจนหมด และว่าการให้สัมปทานเหมืองหยกกับผู้มีเส้นสายและอิทธิพลนั้น ไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้วในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เนื่องจากพม่ากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม นายไมค์ เดวิส เจ้าหน้าที่ของ Global Witness บอกว่า เหมืองหยกนั้นเป็นแหล่งรายได้สำคัญของทั้งฝ่ายรัฐบาลเมียนมาร์และกองกำลังชนกลุ่มน้อยในรัฐคะฉิ่น และเป็นที่มาของความขัดแย้งที่ยังไม่สงบในทุกวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่สายเหยี่ยวในกองทัพเมียนมาร์บางรายที่ต้องการให้ความขัดแย้งดำเนินต่อไป เพื่อเปิดช่องในการแสวงหาผลประโยชน์จากเหมืองหยก ซึ่งทำให้ขณะนี้ชนกลุ่มน้อยชาวคะฉิ่นไม่ยอมลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลเมียนมาร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น