วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

24.10.2558 ศึกษา สงคราม ศึกษา การรุก การถอย นาซี "ฮิตเลอร์"

ศึกษา สงคราม ศึกษา การรุก การถอย นาซี "ฮิตเลอร์" วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558 Source:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1445688559
ความโน้มเอียงที่แน่นอนประการหนึ่งในการศึกษาต่อวิถีแห่งอำนาจ ไม่ว่าจะอำนาจทาง "การทหาร" ไม่ว่าจะอำนาจทาง "การเมือง" คือ ความโน้มเอียงที่จะศึกษาด้าน "รุก" คือ ความโน้มเอียงที่จะศึกษาด้าน "ชัยชนะ" ผลก็คือ นำไปสู่การละเลยที่จะศึกษาด้าน "ถอย" นำไปสู่การละเลยที่จะศึกษาด้าน "พ่ายแพ้" อย่างจงใจและเจตนา เหมือนกับในยุคของสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนไม่น้อยเห็นแต่ด้านที่เติบใหญ่ พัฒนาของ "ฮิตเลอร์" อันมาพร้อมกับพรรคสังคมชาตินิยมหรือที่เรียกกันว่า "นาซี" นั่นก็คือ ด้านที่ "รุ่งโรจน์" ด้านที่ "ชโย" โห่ร้อง อวยชัย ผลก็คือ ด้านที่ "อับเฉา" ด้านที่ "โรยรา" ดำเนินมาและเป็นไปอย่างไร ถูก "มองข้าม" น่ายินดีที่ ศาสตราจารย์สัญชัย สุวังบุตร ค้นคว้าและเรียบเรียง "นาซี เยอรมนี ค.ศ.1933-1945" โดยการสนับสนุนของคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กระทั่งจัดพิมพ์ออกมา ทำให้ภาพแห่งการถอยในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความแจ่มชัด หากถือเอาการที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กเมื่อวันที่ 30 มกราคม 1933 เป็นจุดเริ่มต้น นี่คือชัยชนะ นี่คือก้าวแห่งการรุกที่สำคัญ ตลอด 1 ปีจาก 1933 ถึง 1934 คือการสร้างรากฐานและกระชับอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อสภาไรค์ซตาคมีมติรับรองกฎหมายที่ให้อำนาจในเดือนมีนาคม การจัดตั้งตำรวจลับหรือเกสตาโปในเดือนเมษายน การลงนามความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐ ในเดือนกรกฎาคม เข้าสู่ปี 1934 ปฏิบัติการคืนแห่งมีดยาวปลายเดือนมิถุนายนต่อต้านเดือนกรกฎาคม กฎหมายรวมตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งเดียวกันโดยฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่ง "ฟือเรอร์" ในเดือนสิงหาคม เมื่อสร้างความแข็งแกร่งภายในก็เริ่ม "รุก" สู่ภายนอก เริ่มจากยึดครองเขตปลอดทหารไรน์ลันด์ ในเดือนมีนาคม 1936 การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีในเดือนมีนาคม 1938 การรุกเข้าไปยึดครองโบฮีเมียและเมเรเวียเมื่อเดือนมีนาคม 1939 ตามมาด้วยการบุกโปแลนด์ในเดือนกันยายน ส่งผลให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอรมนี จากนั้นเยอรมนีก็เปิดการรุกครั้งใหญ่โดยโจมตีนอร์เวย์และเดนมาร์กเดือนเมษายน 1940 เข้ายึดครองกรุงปารีสในเดือนมิถุนายน ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็โจมตีอ่าวเพิร์ลในเดือนธันวาคม 1941 อันเท่ากับดึงให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมใน "สงครามโลก" ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปฏิบัติการ "รุก" ของเยอรมนี คำถามก็คือแล้วห้วงเวลาใดของสงครามอันบ่งบอกถึงสภาวะแห่งการ "ถอย" ของฝ่ายเยอรมนี ยุทธการ 1 อันส่งสัญญาณ คือความล้มเหลวใน "ยุทธการที่เกาะอังกฤษ" เริ่มจากเดือนกันยายน 1940 เป้าหมายคือจะทำลายกำลังทางอากาศของอังกฤษทั้งหมด แต่บทสรุปในเดือนพฤศจิกายน 1941 เยอรมนีก็ต้องหยุดปฏิบัติการ บทสรุปจาก วินสตัน เชอร์ชิล คือ "ไม่เคยมีความขัดแย้งของมนุษยชาติครั้งใดที่คนจำนวนมากต้องเป็นหนี้บุญคุณอย่างใหญ่หลวงแก่คนจำนวนน้อยนิดดังเช่นในสงครามครั้งนี้" นี่คือจุดเริ่มต้นแห่งการ "ถอย" ของเยอรมนี และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการ "รุก" ของพันธมิตร จากนั้นมาก็เห็นได้จากการถอยในยุทธนาวีมหาสมุทรแอตแลนติก และพลันที่เยอรมนีเริ่มปฏิบัติการ "บาร์บารอสซา" โดยการเปิดแนวรบด้านตะวันออกใน ค.ศ.1941 กองทัพเยอรมนีก็เท่ากับตกลงไปในหล่มโคลนแห่งความหนาวเย็นของสหภาพโซเวียต หนาวถึงขั้นน้ำมันที่ใช้ชโลมปืนยังจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็ง อาวุธปืนใช้การไม่ได้ รถถังและยานยนต์จอดนิ่งเพราะน้ำมันเครื่องจับตัวเป็นน้ำแข็ง ประสานเข้ากับความพ่ายแพ้ของ จอมพลแอร์วิน รอมเมิล ในยุทธการเอลอะลาเมน อียิปต์ เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1943 กองทัพเยอรมันและอิตาลีก็ถูกตีถอยร่นออกจากแอฟริกา จากนั้นฝ่ายอักษะที่นำโดยเยอรมนีก็มีแต่ถอย ไม่มีรุก กระทั่ง เยอรมนียอมแพ้ในเดือนพฤษภาคม 1945 การยืนหยัดสู้ของพันธมิตรในยุทธการที่เกาะอังกฤษต่างหากเป็น "จุดเปลี่ยน" อย่างมีนัยสำคัญของสงคราม ความพ่ายแพ้ทั้งที่กรุงเลนินกราด ความพ่ายแพ้ในยุทธการเอลอะลาเมนในแอฟริกา คือจุดพลิกผันแปรเปลี่ยนอย่างชนิดตรงกันข้าม ฝ่ายที่เคย "รุก" ต้องถอย ฝ่ายที่เคย "กำชัย" ต้องพ่ายแพ้ มติชน ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น