วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

16.10.2558 วิกฤตซีเรีย : รัสเซียมาแล้ว โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ (ที่มา:มติชนรายวัน 16 ตุลาคม 2558)

วิกฤตซีเรีย : รัสเซียมาแล้ว โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ preechayana@hotmail.co.uk (ที่มา:มติชนรายวัน 16 ตุลาคม 2558)
จากจุดเล็กๆ ที่มีการประท้วงทางการเมืองอันเป็นผลพวงมาจากอิทธิพลของ "อาหรับสปริงส์" ในตอนต้นปี 2011 ก่อนจะลุกลามขยายวงกลายเป็นสงครามการเมืองที่รุนแรงจนคร่าชีวิตผู้คนกว่าสองแสน และอีกหลายล้านคนที่บ้านแตกต้องหนีภัยสงคราม จนกลายเป็นปัญหาผู้ลี้ภัยที่เลวร้ายที่สุดสำหรับยุโรปในปัจจุบัน แต่จู่ๆ โลกก็ต้องตะลึง เมื่อรัฐบาลรัสเซียตัดสินใจส่งกองทัพทหารเข้าร่วมช่วยเหลือรัฐบาลของบาชาร์ อัล อัสซาดแห่งซีเรีย ด้วยการเริ่มต้นเปิดฉากถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มการร้ายไอเอส (IS) และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา คำถามสำคัญแรกก็คือ รัสเซียก้าวไปสู่จุดวันนี้ได้อย่างไร และทำไมต้องก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องในวิกฤตซีเรียครั้งนี้ด้วย หากสืบย้อนหลัง เชื่อได้ว่าจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่เป็นรูปธรรมของการวางแผนเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียทางด้านการทหารในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อผู้บัญชาการทหารระดับสูงของอิหร่านเดินทางไปรัสเซียอย่างลับๆ (เพราะติดเงื่อนไขเป็นบุคคลต้องห้ามตามคำสั่งของยูเอ็นไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้) เพื่อโน้มน้าวและชักจูงให้รัสเซียเข้ามาร่วมช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลซีเรียซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่เสียเปรียบย่ำแย่ที่สุด ด้วยความเชื่อมั่นว่ากองทัพรัสเซียจะช่วยทำให้ฝ่ายรัฐบาลซีเรียสามารถพลิกกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างแน่นอน ในช่วงระยะเวลาที่ผู้นำรัสเซียและอิหร่านกำลังกำลังเจรจาลับเพื่อหาหนทางช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียนั้น ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ก็สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเปิดเผยยอมรับต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2011 ว่า กองทัพรัฐบาลประสบปัญหาขาดแคลนกำลังพลอย่างหนัก ไม่สามารถเปิดศึกรบกับกลุ่มต่างๆ ได้ทั้งหมด จนต้องสูญเสียพื้นที่ของประเทศกว่าสี่ในห้าให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล การยอมรับต่อภาวะย่ำแย่ทางทหารดังกล่าวซึ่งผิดวิสัยของผู้นำซีเรียคนนี้ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ของรัฐบาลและกองทัพอยู่ในภาวะ "สีแดง" เลวร้ายจริงๆ และมีโอกาสที่จะพ่ายแพ้อย่างราบคาบให้กับกองกำลังฝ่ายต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกและกลุ่มประเทศอาหรับหลายๆ ประเทศ หากไม่รับการช่วยเหลือใดๆ ทันท่วงที เมื่อก้าวมาสู่จุดที่ตระหนักถึงโอกาสแห่งความพ่ายแพ้ทางทหาร ทำให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ไม่มีทางเลือกอื่นๆ นอกจากร้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากประธานาธิบดีปูตินโดยตรง (เหมือนเช่นกรณีที่รัฐบาลอิรักเคยร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐเมื่อเดือนมิถุนายน 2014) ดูเหมือนว่า ประธานาธิบดีวราดิมีย์ ปูตินแห่งรัสเซีย จะเห็นดีเห็นงามกับข้อเสนอของอิหร่านตั้งแต่แรกๆ และตัดสินใจที่จะแทรกแซงช่วยเหลือกองทัพซีเรียโดยไม่ลังเลรีรอ ดังนั้น ช่วงระยะเวลาสองเดือน (สิงหาคม-กันยายน) จึงเป็นช่วงเวลาของการวางแผนและตระเตรียมปฏิบัติการทางทหารนอกเขตพรมแดนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสามทศวรรษ สอดคล้องกับคำยืนยันของรัฐมนตรีต่างประเทศซีเรียที่ยอมรับว่า ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพอากาศรัสเซียในครั้งนี้มีการวางแผนเตรียมการมานานหลายเดือนแล้ว ในการวางแผนเตรียมการนั้น เชื่อได้ว่ารัฐบาลรัสเซียศึกษาเรียนรู้บทเรียนในอดีตสมัยบุกรุกอัฟกานิสถาน (1979-1989) และปฏิบัติการทหารของสหรัฐในวิกฤตตะวันออกกลางที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้อย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันความผิดพลาดใดๆ ที่อาจจะส่งผลเสียหาย โดยเฉพาะการสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการทหารในครั้งนี้ การสร้างความชอบธรรมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งบัญญัติให้วุฒิสภารัสเซียเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบหากรัฐบาลต้องการจะส่งกองทัพไปปฏิบัติการทางทหารนอกประเทศ ดังนั้น เมื่อได้รับหนังสือร้องขอความช่วยเหลือทางทหารอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลซีเรีย ประธานาธิบดีปูตินจึงได้เสนอเรื่องต่อให้วุฒิสภาพิจารณา เมื่อวุฒิสภาอนุมัติเห็นชอบอย่างเบ็ดเสร็จเอกฉันท์แล้ว ผู้นำรัสเซียในฐานะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพรัสเซียจึงมีความชอบธรรม (ครึ่งหนึ่ง) ที่จะส่งกองทัพทหารไปปฏิบัติการในซีเรีย ทั้งนี้ มติของวุฒิสภาดังกล่าวนี้ ไม่ได้กำหนดขอบเขตวันเวลาและสถานที่ของปฏิบัติการ เท่ากับเปิดโอกาสให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีปูตินสามารถปฏิบัติการทางทหารทั้งในซีเรียหรือที่อื่นๆ ทุกที่ทั่วโลก และทุกเมื่อโดยไม่มีเงื่อนไขจำกัดของระยะเวลา ความจำเป็นต่อมาคือการสร้างความชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นความชอบธรรมอีกครึ่งหนึ่งที่ประธานาธิบดีปูตินต้องเติมเต็มให้ครบถ้วน ทั้งนี้ การสร้างความชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นสามารถดำเนินการโดยผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือโดยการร้องขออย่างเป็นทางการของรัฐบาลของรัฐนั้นๆ ซึ่งทางเลือกที่สองถือเป็นทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้สำหรับรัสเซีย ดังนั้น ภายใต้ทฤษฎีสมคบคิด รัฐบาลซีเรียจำเป็นต้องเปิดตัวก่อน (ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายใดๆ) โดยการทำหนังสือจดหมายร้องขออย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลรัสเซีย เพื่อยืนยัน (บนหน้าเสื่อ) ว่า รัสเซียไม่ได้ตัดสินใจตามอำเภอใจหรือคิดใช้อำนาจบาตรใหญ่ในการบุกรุกประเทศอื่นๆ แต่เป็นการตอบสนองต่อคำร้องขอของซีเรียในฐานะรัฐหนึ่ง และในฐานะประเทศพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่งของรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้จะไม่ปรากฏวันที่ยื่นเรื่องหรือระบุวันที่ในจดหมาย แต่หนังสือร้องขอ (ความช่วยเหลือ) อย่างเป็นทางการที่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด มีถึงประธานาธิบดีปูตินโดยตรงนี้ จึงเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่ยืนยันความชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ (ทางเลือกที่สอง) ทำให้การตัดสินใจในการปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้มีความชอบธรรมที่สุด การเตรียมการดังกล่าวถือได้ว่าให้คุณประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย นั่นคือนอกจากจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ประธานาธิบดีปูตินแล้ว ยังเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้นำซีเรียด้วย เพราะตลอดช่วงระยะเวลาสี่ปีของสงครามการเมืองในซีเรีย ฐานะความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด กลายเป็นอุปสรรคสำคัญหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อสันติภาพได้ ด้วยเหตุที่ชาติตะวันตกและหลายประเทศในตะวันออกกลางไม่รับรองรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาด ดังนั้น การที่ผู้นำรัสเซียหยิบยกอ้างอิงถึงหนังสือทางการของผู้นำซีเรียวัย 50 ปีคนนี้ จึงเท่ากับเป็นการรับรองฐานะของรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ทั้งโดยนิตินัยและโดยพฤตินัย ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อแผนการเจรจาเพื่อสันติภาพในอนาคตอย่างที่ชาติตะวันตกและพันธมิตรในตะวันออกกลางจะปฏิเสธไม่ได้อย่างแน่นอน ประเด็นสำคัญต่อมาที่จำเป็นต้องกล่าวถึงก็คือ ทำไมหรือด้วยเหตุผลเป้าหมายใดที่ทำให้ประธานาธิบดีปูตินจึงตัดสินใจยกกองทัพไปช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียในครั้งนี้ จนเกิดกระแสช็อกไปทั่วโลกและหวั่นวิตกว่าจะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3(?) ในเป้าหมายหลายประการที่ผ่านการชั่งน้ำหนักคิดคำนวณของผู้นำรัสเซียแล้ว ดูเหมือนว่าวิกฤตซีเรียในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้รัสเซียสามารถ "ยิงปืนนัดเดียวได้นกเป็นฝูง" โดยไม่ได้เรียงลำดับน้ำหนักความสำคัญของแต่ละเป้าหมาย ดังนี้ หนึ่ง ปัญหาหนักอกหนึ่งที่ใกล้ตัวรัสเซียที่สุดและทำให้รัสเซียต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายตะวันตก ณ ปัจจุบันก็คือปัญหายูเครน ดังนั้น วิกฤตซีเรียจะเปิดโอกาสให้โลกหันเหมาสนใจซีเรียมากขึ้นและปัญหายูเครนน้อยลง สอง ปัญหาสำคัญหนึ่งที่ถือเป็นภัยคุกคามรัสเซียโดยตรงและเป็นประเด็นที่รัฐบาลรัสเซียหยิบยกมาอ้างเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งในการไปช่วยเหลือกองทัพซีเรียก็คือปัญหาชาวเชเชนมุสลิม (ที่มาจากพื้นที่เชชเนียของรัสเซีย) จำนวนมากที่ร่วมรบอยู่ในกลุ่ม IS ดังนั้น รัฐบาลรัสเซียจึงถือเป็นภารกิจที่จะต้องกำจัด "เชื้อร้าย" นี้ก่อนที่ชาวเชเชนกลุ่มนี้จะกลับมาสร้างปัญหาใหญ่ในวันหน้าให้กับรัสเซีย สาม ก่อนหน้าจะเกิดปฏิบัติการถล่มด้วยเครื่องบินรบของรัสเซียนั้น ยุโรปเผชิญปัญหาผู้ลี้ภัยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนยากเกินเยียวยา เพราะฉะนั้นปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเหนือดินแดนซีเรียคือการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ต้นตอโดยตรง ถือเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้ยุโรปไปในตัว สี่ รัสเซียต้องการสร้างภาพพจน์ใหม่และพิสูจน์ว่าสามารถเล่นบทบาท "ตำรวจโลก" ได้ดีกว่าสหรัฐ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้โลกจะตระหนักถึงภัยคุกคามและความโหดร้ายของกลุ่ม IS แต่สหรัฐและพันธมิตรก็ไม่สามารถกำจัดกลุ่มก่อการร้ายนี้ได้เลย เพราะฉะนั้น หากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียประสบความสำเร็จถึงขั้นถอนรากถอนโคนกลุ่ม IS ได้ ก็จะหนุนเสริมทำให้ภาพพจน์ของรัสเซียดีกว่าสหรัฐอย่างแน่นอน และทำให้รัสเซียกลายเป็นที่พึ่งของประเทศเล็กประเทศน้อยในอนาคตในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่สหรัฐไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ สิ่งที่รัสเซียย้ำมาตลอดก็คือ ปฏิบัติการทหารในซีเรียครั้งนี้มีความชอบธรรมถูกต้องที่สุด (แตกต่างจากสหรัฐและพันธมิตรที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศในการบุกถล่มกลุ่มก่อการร้ายในดินแดนซีเรีย โดยรัฐบาลซีเรียไม่ได้ร้องขอหรืออนุญาต) และมีเป้าหมายเพื่อกำจัดผู้ก่อการร้ายทุกๆ กลุ่มให้แก่ชาวโลก ห้า ในทางปฏิบัติแล้ว ฐานะความเป็นมหาอำนาจโลกจะไร้ความหมายหากไม่สามารถแสดงศักยภาพหรือแสนยานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งได้ ดังนั้น วิกฤตซีเรียจึงเปิดโอกาสให้รัสเซียก้าวสู่เป้าหมายนี้หลังจากที่ห่างเหินภูมิภาคนี้ไปนานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะการแสดงบทบาทในฐานะประเทศมหาอำนาจที่สามารถกำหนดเกมความเคลื่อนไหวต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาความขัดแย้งมากที่สุด เป็นการเรียกคืนชื่อเสียงบารมีเดิมๆ ของอดีตสหภาพโซเวียตที่ประธานาธิบดีปูตินยังคงหวนหาอยู่ไม่เสื่อมคลาย นอกจากจะเปิดโอกาสให้รัสเซียได้แสดงแสนยานุภาพของความเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างแท้จริงและป้องกันไม่ให้ "ผีอัฟกานิสถาน" มาหลอกหลอนตอกย้ำความล้มเหลวในอดีตแล้ว บางที วิกฤตซีเรียในครั้งนี้อาจจะเป็นจุดพลิกผันที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น