วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

13.10.2558 บทบาทที่สำคัญของ ภีมราว รามชี อามเพฑกร (สะกดตามวิกิพีเดียภาษาไทย) หรือที่เรารู้จักกันในนามของ ดร.อัมเพทการ์ (Dr. Ambedkhar) ในฐานะที่เป็นบิดาของรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งโลกยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก.

เมื่อจัณฑาลร่างรัฐธรรมนูญ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ (ที่มา:มติชนรายวัน 13 ตุลาคม 2558)
ดร.อัมเพทการ์ (Dr. Ambedkhar) บิดาของรัฐธรรมนูญอินเดีย ผมกำลังพูดถึงบทบาทที่สำคัญของ ภีมราว รามชี อามเพฑกร (สะกดตามวิกิพีเดียภาษาไทย) หรือที่เรารู้จักกันในนามของ ดร.อัมเพทการ์ (Dr. Ambedkhar) ในฐานะที่เป็นบิดาของรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งโลกยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียด ผมขอย้ำประเด็นที่สำคัญสักสองประการนั่นก็คือ 1.เรื่องของอามเพฑกรไม่ใช่เรื่องใหม่ของบ้านเรา เมืองไทยรู้จักอามเพฑกรมานานแล้ว หากจะค้นในอินเตอร์เน็ต แต่เมืองไทยมักจะนำเสนอเรื่องราวเฉพาะในมุมว่าอามเพฑกรนั้นพื้นเดิมที่เป็นชาวจัณฑาล (เรื่องจัณฑาลนี้ซับซ้อนหน่อย อินเดียเขาเรียกว่า dalit คืออาจจะมีความซับซ้อนในรายละเอียดว่ามีหลายกลุ่ม แต่ก็คือพวกที่เป็นวรรณะที่ต่ำที่สุดในสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู) ต่อมาหันมาศึกษาและนับถือพุทธศาสนา การพูดถึงภูมิหลังการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา บทบาทของการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ และการเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นมักถูกพูดในแง่ของ "ความสำเร็จของบุคคลสำคัญของโลก" แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าอะไรคือชุดความคิดที่สำคัญของอามเพฑกรในรัฐธรรมนูญที่โลกจารึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างมากฉบับนี้ 2.บทบาททางการเมืองของอามเพฑกรต่อการร่างรัฐธรรมนูญอินเดียนั้นมีความสำคัญยิ่งในการทำความเข้าใจหน้าที่ของรัฐศาสตร์ต่อสังคมโดยเฉพาะรัฐศาสตร์ที่เรียกตัวเองว่า"รัฐศาสตร์กระแสหลัก" ขณะที่เรามักจะให้ความสำคัญกับคานธีในฐานะของ "รัฐศาสตร์ทวนกระแส" อยู่เสมอๆ ด้วยมองว่าคานธีนั้นนำเสนอความคิดเรื่องของการวิพากษ์และปฏิบัติการทางการเมืองที่สำคัญ อาทิ สันติวิธี อหิงสา หรือมองว่าการศึกษาการเมืองนั้นเป็นเรื่องของการวิพากษ์ และเคลื่อนไหวโค่นล้มโครงสร้างเดิม รัฐศาสตร์กระแสหลักให้ความสำคัญกับการสร้างสถาบันทางการเมือง ทั้งการออกแบบและวัดประเมินเพื่อพัฒนาการเมืองให้มันดีขึ้น โดยเฉพาะการเมืองแบบประชาธิปไตย ในกรณีของอามเพฑกรนั้น เรื่องที่สำคัญที่อาจจะต่างจากโครงการของคานธีก็คือ คานธีมีบทบาทในการรวบรวมพลังของมวลชนในการวิพากษ์และต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมด้วยอหิงสาวิธี แต่อามเพฑกรนั้นออกแบบสถาบันทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดประชาคมการเมืองที่ยั่งยืนและท้าทายกับสังคมที่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมยังมีอิทธิพลของศาสนาและวัฒนธรรมฮินดูอยู่มากหรือจะกล่าวอีกอย่างก็คืออามเพฑกรทำหน้าที่ออกแบบให้พลังของมวลมหาประชาชนชาวอินเดียที่หลั่งไหลออกไปบนท้องถนนเพื่อต่อต้านกับอำนาจของอาณานิคมกลายสภาพเป็นปวงชนชาวอินเดียในรัฐธรรมนูญและสถาปนากระบวนการทำงานในภาวะปกติของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวอินเดียให้มีกฎมีเกณฑ์และดำเนินไปได้ในแต่ละวัน กล่าวอีกอย่างก็คือ แม้ว่าคานธีนั้นจะต่อสู้เพื่อให้อินเดียหลุดจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คานธีไม่ได้หลุดจากโลกของฮินดู ขณะที่อามเพฑกรคือคนที่แทบจะไม่ถูกนับในโลกของฮินดู แต่เขาสามารถก่อร่างสร้างสังคมอีกอย่างหนึ่งที่ท้าทายและยืนหยัดควบคู่ไปกับวัฒนธรรมหลักของสังคมอินเดียและสถาปนาให้การเมืองแบบประชาธิปไตยก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมหลักของสังคมอินเดียได้ บทเรียนของอินเดียทำให้เราเห็นว่าสังคมหนึ่งอาจจะมีโลกที่ซ้อนกัน/ทับกันได้ และต่อสู้ต่อรองกันได้ ไม่จำเป็นต้องปะทะและแตกหักจนเกิดมิคสัญญีเสมอไป รัฐธรรมนูญอินเดียไม่ได้ล้มความเป็นอินเดียทางวัฒนธรรม แต่ยกระดับสังคมให้คนที่ไม่ถูกนับหรือแทบไม่ถูกนับในโลกวัฒนธรรมเก่ามีที่ยืนในอีกโลกหนึ่งคู่ขนานไปด้วย และทำให้การต่อสู้ของการเมืองเชิงวัฒนธรรมทำงานอย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น สมกับที่มีการกล่าวว่ารัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญอินเดียเป็นกฎหมาย/เอกสารที่มีชีวิต ไม่แปลกที่ส่วนสำคัญในความสำเร็จนั้นมาจากอามเพฑกรที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาหรือสถาปนิกหลักของรัฐธรมนูญอินเดียไม่ใช่เป็นเพียงเนติบริกรของรัฐธรรมนูญอินเดียซักฉบับหนึ่งเท่านั้นและที่สำคัญอามเพฑกรยังได้รับการสรรเสริญว่าเป็นบุคคลที่นอกจากจะมีความรู้ความสามารถในหลายด้านแล้ว เขายังมีความเป็นมนุษย์หรือเป็นนักมนุษยนิยมที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก รัฐธรรมนูญอินเดียเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก คือมี 444 มาตรา เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างเกือบสามปี และประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2493 ในกระบวนการร่างมีการถกเถียงอย่างยืดยาวในสภาที่มาจากประชาชน ว่ากันว่าเอกสารบันทึกการประชุมการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นเอกสารที่ควรค่าแก่การศึกษามากเพราะเป็นการบันทึกถึงความใฝ่ฝันและการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันถึงความคิดว่าชาติหรือประชาชาติคืออะไรอะไรคือภาษาที่จะใช้สื่อสารกันในชาติ ระบบการเมืองและเศรษฐกิจอะไรคือสิ่งที่ชาว/ชาติอินเดียควรจะมี และอะไรคือคุณค่าทางศีลธรรมที่ควรรักษา/เปลี่ยนแปลงไปบ้าง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่อามเพฑกรเป็นประธานมีสมาชิกเจ็ดคน และอามเพฑกรได้รับการเสนอให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างที่เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยเฉพาะในประเด็นของการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของชาวอินเดีย และทำให้ชาวอินเดียจดจำว่า อามเพฑกรคือชื่อที่ทำให้พวกเขานึกถึงรากฐานสี่ประการของรัฐธรรมนูญอินเดีย นั่นก็คือ ความยุติธรรม เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ เหตุผลที่สำคัญสองประการที่ชาวอินเดียมองว่าอามเพฑกรเหมาะสมกับการเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็เพราะหนึ่งอามเพฑกรเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในสังคม และ สอง อามเพฑกรมีพื้นเพเป็นจัณฑาล ซึ่งทำให้เขาเข้าใจความโหดร้ายของระบบวรรณะและทำให้เขาสามารถมองเห็นว่าการปฏิรูปอะไรบ้างที่จำเป็นในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยเฉพาะด้วยวิถีทางรัฐธรรมนูญซึ่งในกรณีนี้ต้องขยายความต่อว่าอามเพฑกรไม่ใช่จัณฑาลทั่วไปแต่เขาเป็นผู้นำทางการเมืองของจัณฑาลที่นำจัณฑาลหลายหมื่นคนประกาศตัวเป็นพุทธมามกะด้วย และเขามีบทบาทในการเรียกร้องเอกราชของอินเดียด้วยเช่นกัน ดังนั้นชื่อเสียงของอามเพฑกรตั้งแต่ก่อนเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างก็คือนักวิชาการทางด้านกฎหมายและนักปฏิรูปสังคมและเป็นผู้ที่มีความเชื่อว่าความยุติธรรมคือสิ่งที่ให้อรรถประโยชน์สูงสุดหรือสิ่งที่จะเอื้อประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ในประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น อามเพฑกรเสนอว่าสิ่งสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะต้องมีคือ "คุณธรรมเชิงอำนาจ" หรือ "คุณธรรมที่ทำหน้าที่ในการกำกับกฎกติกา" ที่แปลตรงๆ (อาจไม่เข้าใจว่า) "คุณธรรมเชิงรัฐธรรมนูญ" (Constitutional Morality) ซึ่งจะช่วยให้รัฐธรรมนูญดำรงอยู่ได้แม้ในสถานการณ์คับขัน ซึ่งคุณธรรมในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่มีมาแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังหรือสร้างขึ้นมา และประชาชนจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับคุณธรรมนี้ หมายความว่าจะรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมีความสถิตสถาพรอยู่ให้ได้ ซึ่งในแง่ของหลักการทางรัฐศาสตร์ในวันนี้สิ่งที่อามเพฑกรพูดถึงก็คือ การทำให้ระบอบการเมืองหนึ่งนั้นเป็นกฎกติกาเดียวของสังคม (consolidation) ในความหมายง่ายๆ ก็คือ คู่แข่งหรือคู่ขัดแย้งของเรายังต่อสู้กับเราในกติกา ไม่ล้มกติกาลงไป บทบาทและจุดยืนของอามเพฑกรในการนำเสนอว่ารัฐธรรมนูญจะต้องสถิตสถาพรให้ได้ ไม่ได้ทำให้อามเพฑกรมองว่าสังคมอินเดียมี "ความเป็นอินเดีย" ที่ไม่เข้ากับความเป็นสากลหรือความเป็นตะวันตก เพื่อปฏิเสธโลกตะวันตกในฐานะของการ "หาข้ออ้างในการปฏิเสธ" หลักการสากลหรือหลักการตะวันตกเช่นประชาธิปไตย แต่สิ่งที่อามเพฑกรทำก็คือการยอมรับว่าประชาธิปไตยที่จะนำมาใช้กับอินเดียนั้นย่อมเป็นเรื่องของการตบแต่งหน้าตาของสังคมเพราะลึกๆแล้วอินเดียเป็นสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่อามเพฑกรและนักวิชาการด้านประชาธิปไตยในอินเดียเห็นว่า คำอธิบายที่ว่าอินเดียไม่สามารถเปลี่ยนจากสังคมดั้งเดิมที่มีความเป็นอินเดียมาสู่สังคมประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้นส่วนหนึ่งเป็นอุดมการณ์/วาทกรรมแบบ"อาณานิคม"ที่ชาวอังกฤษสร้างขึ้นเพื่อครอบงำสังคมอินเดียไว้ (และในกรณีของอินเดีย บรรดาปัญญาชนและชนชั้นสูงบางกลุ่มที่เชื่อในความคิดเช่นนี้พวกเขาก็ล้วนแล้วแต่ยังตกอยู่ในสถานะของทาสทางความคิดของตะวันตกโดยที่ไม่รู้ตัวและเป็นขี้ข้าทางความคิดของพวกตะวันตกในแบบที่เชื่อว่าตนเท่าทันตะวันตกหรือได้ปลดปล่อยตะวันตกออกไปจากจิตใจได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ คนเหล่านี้คือคนที่เป็นขี้ข้าของตะวันตกมากเสียกว่าพวกที่คนเหล่านี้อ้างว่าจะเอาอย่างตะวันตกในสิ่งที่ไม่มีวันเป็นตะวันตกได้(พวกเห่อตะวันตกที่ถูกพวกที่ยึดกุมความเป็นอินเดียวิจารณ์ไว้) ในกรณีของสังคมอาณานิคมและสังคมที่ไม่ยอมพ้นจากความเป็นอาณานิคมทางความคิดดังที่มีการวิจารณ์กันในอินเดียนั้นจะพบอิทธิพลของการอ้างว่าสังคมนั้นต้องการกฎหมายและระเบียบ(law and order) มากกว่าการปฏิรูปสังคม หรือการจัดระเบียบทางสังคมใหม่ที่เน้นความเท่าเทียมกันในสถานะของสังคม ในความหมายที่ว่ารัฐบาลอาณานิคมมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่พร้อมให้สิทธิที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อให้เกิดความเสมอภาคกัน ดังที่คนอินเดียในยุคอาณานิคมได้รับการดูแลในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่ไม่ได้รับสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขา สิ่งที่อามเพฑกรนำเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องของการมองว่ารัฐธรรมนูญจะต้องเป็น "เอกสารทางสังคม" ที่สำคัญไม่ใช่ในแง่ของกฎหมายสูงสุดในการปกครองดังที่เข้าใจกันทั่วไป แต่จะต้องเป็นเอกสารที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป และจะต้องเป็นเอกสารที่นำไปสู่การพัฒนาเงื่อนไขให้การปฏิวัติทางสังคมดำเนินไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม กล่าวง่ายๆ ก็คือ แทนที่รัฐธรรมนูญจะแฝงไปด้วยอคติที่ว่าด้วยเรื่องของเหตุผลและความหวังดีต่อประชาชนโดยคิดค้นสถาบันทางการเมืองอื่นๆมาใช้อำนาจแทนประชาชนหรือบรรจุความใฝ่ฝันข้างเดียวลงไปจำนวนมาก รัฐธรรมนูญของอินเดียตามที่อามเพฑกรมองเอาไว้ก็คือเอกสารที่จะต้องเผชิญหน้ากับอคติและปฏิบัติการทางสังคมของการมองว่าคนนั้นไม่เท่ากันจากระบบวรรณะและความไม่เท่าเทียมกันของสังคมอื่นๆโดยเฉพาะกับคนระดับล่างสุดในสังคมซึ่งอามเพฑกรก็เติบโตมาจากสภาพแวดล้อมนั้น ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองของอินเดียช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าบรรดาคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียแต่ละคนไม่ได้มีบทบาทสำคัญเท่ากับอามเพฑกร เนื่องจากเหตุผลหลายประการ เช่น สุขภาพ หรือตำแหน่งแห่งที่ทางกายภาพในช่วงนั้น เช่นอยู่ในต่างประเทศ หรือห่างไกลออกไป อิทธิพลของอามเพฑกรที่มีต่อรัฐธรรมนูญของอินเดียนั้นมีการพูดถึงอยู่ในหลายเรื่อง ที่จะยกขึ้นมาในวันนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ในส่วนแรกก็คือการให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญในฐานะสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบอบการปกครองประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญคือสิ่งที่สะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชนชาวอินเดีย ด้วยเหตุนี้กฎหมายใดๆ ที่ขัดกับเจตจำนงของชาวอินเดียหรือปวงชนชาวอินเดีย (We, the people of India.) จะต้องถูกตรวจสอบโดยกระบวนการทางตุลาการ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถร้องเรียนขึ้นไปได้ หรือจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ ประชาชนชาวอินเดียสามารถร้องขอต่อศาลให้ตรวจสอบได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญไหม และประเด็นนี้ไม่ใช่แค่การขัดกันในแง่ของภาษาหรือมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด (คือขัดในแง่ตัวบท) แต่ต้องมองว่า ต้องไม่ขัดในสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญสะท้อนออกถึงหลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของและมาจากปวงชนชาวอินเดียต่างหาก อิทธิพลของอามเพฑกรต่อรัฐธรรมนูญอินเดียข้อที่สองก็คือเรื่องของหลักการประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีการเลือกตั้งคนเดียวเบอร์เดียวและมีการปกป้องทางสังคมให้กับปวงชนชาวอินเดีย ซึ่งหมายถึง ประชาธิปไตยเป็นเรื่องทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งนี้อามเพฑกรได้นำเสนอส่วนที่ว่าด้วยเรื่อง "แนวนโยบายแห่งมลรัฐ/แคว้น" เอาไว้ด้วย ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดแต่ละแคว้นได้หากไม่กำหนดนโยบายตามนั้น แต่ก็ให้ทิศทางเอาไว้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็นในระดับแคว้น ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่มีเนื้อหาไปทางการดูแลผู้คนให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม แต่ไม่ได้เป็นการบังคับโดยตรง อิทธิพลประการที่สามของอามเพฑกรต่อรัฐธรรมนูญอินเดียคือการออกแบบการกระจายอำนาจที่มีพลวัตรของการเป็นรัฐเดี่ยวและสหพันธรัฐไปพร้อมๆกัน(เรียกว่า "สหภาพ" หรือ Union) กล่าวคือ อินเดียมีระบบการกระจายอำนาจให้อิสระของแต่ละแคว้นในการบริหารราชการในยามปกติ แต่เมื่อมีสถานการณ์พิเศษประธานาธิบดีจะสามารถออกคำสั่งรวบอำนาจในการบริหารได้ และฐานรากของการกระจายอำนาจไม่ให้ช่องทางที่จะมีการแบ่งแยกดินแดนได้ (ประธานาธิบดีของอินเดียดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ ไม่ใช่ผู้นำทางการบริหาร) อิทธิพลประการที่สี่ของอามเพฑกรต่อรัฐธรรมนูญอินเดียคืออิทธิพลที่คนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี นั่นก็คือบทบาทของอามเพฑกรในการผลักดันประเด็นในเรื่องของสิทธิพลเมืองและความเท่าเทียมกันทางสังคมในสังคมอินเดียหรือพูดง่ายๆก็คือ รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นเอกสารที่ยืนหยัดผลักดันต่อ "การเลือกปฏิบัติในสังคม" หรือต่อ "อคติในสังคม" และอคติทางสังคมที่สำคัญก็คือเรื่องของระบบคนที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือระบบวรรณะและระบบการกดขี่สตรี ซึ่งอคติเหล่านี้ถูกหล่อเลี้ยงเอาไว้ด้วยข้ออ้างที่ว่าถึงความเป็นอินเดียที่มีมาอย่างยาวนาน และใครก็ตามที่แตะต้องและต้องการเปลี่ยนแปลงก็คือพวกที่สร้างความร้าวฉานและแตกแยกในสังคม และเป็นพวกหัวนอก ซึ่งสิ่งนี้ถูกเสนอมาในแง่ของการพยายามแก้กฎหมายว่าด้วยสิทธิพลเมือง แต่ว่าก็ยังไม่ได้สำเร็จไปในทุกเรื่อง แม้ว่าจะมีการระบุไว้ในแนวนโยบายแห่งแคว้นในรัฐธรรมนูญว่าแคว้นต่างๆ นั้นจะต้องผลักดันให้เกิดการมีกฎหมายรับรองสิทธิแห่งความเท่าเทียมของพลเมืองให้จงได้ แต่ในแง่ของสิทธิของผู้หญิงและแรงงานนั้นก็ได้รับการรองรับทางกฎหมายให้มีความเสมอภาคมากขึ้นตามลำดับ

1 ความคิดเห็น:

  1. วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 13:15:48 น.
    (อ่านต่อ) เมื่อจัณฑาลร่างรัฐธรรมนูญ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

    นอกจากนั้นในรัฐธรรมนูญอินเดียยังระบุให้ปวงชนชาวอินเดียได้รับสิทธิพื้นฐานมากมายรวมทั้งมีการยกเลิกการเลือกปฏิบัติต่อจัณฑาล ซึ่งอย่างน้อยก็จะเห็นได้จากการที่จัณฑาลก็มีสิทธิทางการเมืองเท่ากับวรรณะอื่น ซึ่งรวมทั้งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง กล่าวอีกอย่างก็คือ การเลือกปฏิบัติต่อผู้อื่นถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญอินเดีย ไม่ว่าจะในเรื่องของศาสนา เชื่อชาติ วรรณะ เพศสภาพ หรือแม้แต่แหล่งกำเนิด

    ย้ำอีกทีว่าเวลาที่เราพิจารณาเรื่องของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การมองว่าสิทธิและเสรีภาพนี้เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องมอบให้ หรือควรระบุเอาไว้เก๋ๆ เพราะที่อื่นเขามีกัน แต่การจะทำให้สิทธิและเสรีภาพเหล่านี้มีจริง มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่าการไม่เกิดขึ้นของสิ่งนี้มันมีฐานจากสังคม (ไม่ใช่แค่รัฐคือผู้ร้าย แต่สังคมที่ปล่อยให้รัฐเป็นผู้ร้าย หรือปล่อยให้มีผู้ร้านเกิดขึ้นได้น่ะคือรากฐานที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงระบบนี้ให้ดำเนินไปต่างหาก) ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพจึงไม่ใช่ "การให้" แต่เป็นเรื่องของการมี "เจตจำนงในการแก้ไขสังคม" ที่เป็นอยู่ให้มันดีขึ้น ดังนั้นในแง่นี้การปฏิรูปสังคมของอามเพฑกรจึงไม่ใช่การมานั่งฝันที่จะใส่อะไรมากมายไปในนโยบายด้วยความหวังดี แต่ต้องเข้าใจและสำรวจความไม่เป็นธรรมที่มันเกิดขึ้นในสังคมของตนเองเป็นหลัก ไม่ใช่การโทษคนที่เสียเปรียบไปเรื่อยๆ ว่ามีปัญหาเพราะมีวัฒนธรรมที่ไม่ดี และสร้างระบบที่คิดว่าดีให้คนเสียเปรียบ แต่ต้องจัดการคนที่ได้เปรียบในสังคมที่อยู่ได้เพราะหล่อเลี้ยงตัวเองด้วยอคติต่างๆ และวัฒนธรรมอีกมากมายในสังคมด้วยครับ

    นี่คือบทเรียนจากอินเดียที่มีจัณฑาลคนหนึ่งที่จบนอก (และในภายหลังได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ) เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จนได้รับการยอมรับและได้ชื่อว่าเป็นบิดา/สถาปนิกหลักแห่งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของโลกที่ใช้อย่างยาวนาน และเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจของอินเดียให้ขยับดีขึ้นมาโดยตลอด ...

    (บางส่วนของบทความมาจาก Dwijen D. Joshi. "Dr. Ambedkar and Drafting of Indian Constitution: A ′See Through′ into the Making of a Masterpiece from the Eyes of its Architect". Journal of Law, Policy and Globalization. Vo.13. 2013.)

    ตอบลบ